Posted on

ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดทุจริตระดับชาติ

องค์กรนานาชาติ Global Infrastructure Anti-Corruption Centre (https://giaccentre.org/why-corruption-occurs/) ได้ระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุจริตระดับชาติไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1.ทุจริตในรัฐบาล (Corruption in government) ทุจริตที่เกิดขึ้นในทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนามักจะเป็นการทุจริตในระดับโครงสร้าง เช่น การหาผลประโยชน์จากโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่อไม่ต้องรับโทษจากการกระทำที่ผ่านมา การทุจริตระดับนี้จะส่งเสริมการทุจริตครั้งต่อๆไปในอนาคต เพราะความมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองจากองค์กรหลักภายในประเทศ หรือรับโทษเพียงเล็กน้อย

2.นโยบายต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลไม่มีความต่อเนื่อง (Lack of consistent anti-corruption policy within government)  รัฐบาลที่ไม่เข้มงวดหรือกวดขันให้มีการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านทุจริตอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง มีส่วนทำให้มาตรการต่อต้านทุจริตไม่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีที่บางหน่วยงานของรัฐที่จงใจละเลยมาตรการต่อต้านทุจริตเพราะเกรงว่าจะทำให้ผลงานของหน่วยงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มาตรการต่อต้านทุจริตที่กำหนดไว้ก็จะไม่มีความหมาย ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญกับมาตรการต่อต้านทุจริตโดยไม่มีข้อยกเว้น

3.ขาดการรายงานเรื่องทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ (Insufficient reporting of corruption) ถ้าไม่มีการรายงานเรื่องทุจริตอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา จะทำให้ผู้ทำผิดไม่เกรงกลัวว่าจะถือจับได้ สาเหตุหลักที่ทำให้ไม่มีการรายงานทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ

  • ขาดความตระหนักถึงความสำคัญ (Lack of awareness) การที่ไม่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจบางอย่าง อาจทำให้รู้ไม่เท่าทัน มองไม่เห็นช่องทางหรือโอกาสที่จะเกิดทุจริต จึงไม่มีการรายงาน
  • ขาดการวางแผนและกำหนดโครงสร้างของรายงานอย่างชัดเจน (Inadequate or non-existent reporting structures) ควรต้องมีการกำหนดโครงสร้าง วิธึการรายงานที่รัดกุมเพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้รายงานว่าจะไม่เกิดอันตรายหลังจากรายงานไปแล้ว
  • ความเชื่อว่ารายงานเรื่องทุจริตที่พบเห็นก็ไม่มีอะไรดีขึ้น (Belief that nothing will happen if they report) อาจเป็นเพราะประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่ถูกรายงานว่าทุจริตก็ไม่ได้ถูกลงโทษอย่างสาสม ทำให้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่ารายงานเรื่องทุจริตที่พบเห็นก็ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยที่จะรายงานทุจริตที่พบเห็น
  • กลัวว่าจะถูกตอบโต้ ล้างแค้น (Fear of retaliation) ความกลัวที่จะถูกตอบโต้ ล้างแค้น ทำให้หลายคนไม่อยากมีส่วนร่วมในการรายงานทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ทุจริตเป็นผู้มีอิทธิพล หรือเป็นข้าราชการระดับสูง
  • กลัวผลที่จะตามมา (Fear of consequences) ที่ต้องเข้าไปพัวพัน อาจจะเป็นกระบวนสอบสวน การที่ต้องเป็นพยาน หรือแม้แต่ถูกฟ้องกลับในฐานะให้การเท็จ

4.ขาดมาตรการลงโทษที่รุนแรงและสาสมกับความผิด (Insufficient prosecution of corruption) ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาที่ไม่มีการลงโทษผู้ทุจริตอย่างรุนแรง และจริงจัง จะทำให้ผู้ที่มีโอกาสจะทุจริตไม่เกรงกลัวและจะทำการทุจริต ก็เหมือนกับส่งเสริมให้มีการทุจริต อีกทั้งการเลือกลงโทษเฉพาะผู้ทุจริตระดับล่างและละเลยที่จะลงโทษผู้ทุจริตที่มีหน้าที่การงานระดับสูง อาจเป็นเพราะความเกรงใจหรือเกรงกลัวอิทธิพล จะทำให้มาตรการป้องกันการทุจริตไม่ได้ผล

5.เปิดโอกาสให้พนักงานทุจริต (The vulnerability of project owners’ employees to corruption) โครงการใหญ่ๆที่เป็นของรัฐ และอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าของหน่วยงานของรัฐ มีโอกาสที่จะเกิดทุจริตได้ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น

  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการไม่มีแรงจูงใจที่จะรักษาผลประโยชน์ให้กับรัฐ
  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการขาดความน่าเชื่อถือ และศักยภาพที่จะควบคุมโครงการ และมักจะละเลยความเสียหายบางอย่าง เพราะเห็นว่าเป็นความสูญเสียเล็กน้อย จึงทำให้งานไม่มีคุณภาพ
  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการขาดความเป็นอิสระในการควบคุมและบริหารโครงการ
  • ในบางประเทศเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการมีรายได้ประจำน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงเป็นสาเหตุให้ทุจริตเพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว

6. เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต (The vulnerability of other government employees to corruption) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต เช่น วีซ่า นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และใบอนุญาตทางธุรกิจอื่นๆ มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ประกอบการได้ง่ายๆ ด้วยการใช้เวลาในการออกใบอนุญาตนานมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงมักเสนอผลประโยชน์พิเศษให้เพื่อเร่งรัดขั้นตอน และเวลาที่ใช้ในการออกใบอนุญาต

7. ขาดการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับรู้ (Lack of publicly available data on corruption convictions) การประชาสัมพันธ์ของรัฐให้สาธารณชนรับรู้ความจริงเกี่ยวกับการทุจริตเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ที่ถูกลงโทษจากการทุจริตพยายามบิดเบือนความจริง โดยให้ข่าวที่ไม่เป็นจริง หรือให้ข่าวเป็นบางส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ผิดกับสาธารณชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องให้ข่าวที่ถูกต้องผ่านสื่อที่ทันสมัย สร้างการรับรู้ความเป็นจริง เป็นการลบอคติที่มีกับภาครัฐ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการกำจัดและปราบปรามทุจริต 8.ขาดข้อมูลที่สาธารณชนสามารถเปรียบเทียบได้ (Lack of sufficient data regarding comparative costing of infrastructure projects, materials, and methods) การให้ข้อมูลแก่สาธารณชนเพื่อนำไปเปรียบเทียบ เป็นการชี้แจงและเปิดโอกาสให้สาธารณชนเปรียบเทียบด้วยตนเอง และค้นหาสิ่งผิดปรกติซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริต