Posted on Leave a comment

ประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ III

สถานการณ์โลกในปัจจุบันที่ตึงเครียดมาก ทำให้หลายคนเริ่มกังวลใจว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ซึ่งคงไม่มีใครบอกได้ พวกเราคงได้แต่ภาวนาขออย่าได้เกิดขึ้นเลย หลายคนเริ่มมองหาประเทศที่ปลอดภัยจากภัยสงคราม บนเวปต์ไซท์ TIMESTRAVEL (https://timesofindia.indiatimes.com/travel/destinations/10-safest-countries-to-live-in-if-world-war-iii-happens/photostory/107912785.cms) แนะนำประเทศที่คาดว่าจะปลอดภัยและน่าอยู่อาศัยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 3 (ถ้าเกิดขึ้นจริง) 10 ประเทศ ดังนี้:

1 Antractica แอนตาร์ติกา (Antarctica) แม้ว่าจะไม่เป็นประเทศ บริเวณขั้วโลกใต้ที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งและห่างไกลจากความเจริญในเมืองใหญ่ น่าจะไม่เป็นที่สนใจของประเทศคู่สงครามใดๆk

2 Fiji ประเทศ Fiji เป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งสงบและไม่ถูกรบกวนด้วยอิทธิพลการเมืองมากนัก

3 Iceland ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำจืดและพลังงานหมุนเวียน จึงสามารถพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี

4 Greenland กรีนแลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเดนมาร์ก แต่เป็นดินแดนปกครองตนเอง ที่อยู่ห่างออกไปจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้มีโอกาสรอดพ้นจากการโจมตีในระหว่างสงคราม

5New Zealand แม้ว่าประเทศนิวซีแลนด์จะมีการพัฒนาอย่างมาก แต่อยู่ไกลออกไปทางขั้วโลกใต้

6 Bhutan ภูเขาที่ล้อมรอบประเทศภูถานเป็นเสมือนเกราะป้องกันอันตรายจากการโจมตีจากประเทศอื่นได้เป็นอย่างดี

7Ireland ประเทศไอร์แลนด์มีความอิสระในด้านนโยบายต่างประเทศ ไม่ขึ้นกับประเทศอังกฤษ

8 Switzerland เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศสวิสเซอร์แลนด์ไม่มีเขตแดนติดทะเล และล้อมรอบด้วยภูเขา มีนโยบายเป็นกลางทางการเมือง

9 Indonesia อินโดนีเซียมีความพยายามวางตัวเป็นกลางทางการเมืองและมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะแยกจากประเทศอื่นๆ

10 Tuvalu ทูวาลูเป็นประเทศเล็ก ประชากรน้อย อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากประเทศอื่นๆ

Posted on

ยืมเงินมาเรียน

เป็นที่น่าสนใจว่าในจำนวนผู้กู้ยืมเงินกองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 6,868,103 ราย มีผู้ชำระหนี้เสร็จสิ้นเพียง 1,915,701 ราย หรือ 28% ของผู้กู้ยืม (สถิติข้อมูล กยศ. วันที่ 31 กรกฎาคม 2567, https://www.studentloan.or.th/th/statistics/1540900492) ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการชำระหนี้ อยู่ในช่วงปลอดหนี้ และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ

นอกจากสถิติของผู้กู้ยืมแล้ว กยศ.ยังคงให้การกู้ยืมอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดบนเวปไซด์ของ กยศ. ( https://www.studentloan.or.th/th/news/1705998214) มีความเห็นเกี่ยวกับการล้างหนี้ให้ผู้กู้ยืมหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังจะเห็นได้ว่าสกู้ปข่าว “ถอดบทเรียนนโยบายล้างหนี้ กยศ. ของสหรัฐอเมริกา” (https://www.youtube.com/watch?v=BlLPLRkz5Yg)

                ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้กู้ยืมไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามที่กำหนด น่าจะเป็นเรื่องของสภาพการทำงาน และรายได้ หลังจากจบการศึกษา จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปีการศึกษา 2566 ผู้สำเร็จการศึกษาทั้งประเทศ ทำงานแล้ว 81.19%

                TITLEMAX เปรียบเทียบกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการเรียนกับรายได้เฉลี่ยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแยกตามกลุ่มอาชีพ ตามรูปด้านล่าง ด้านซ้าย(สีเขียว)เป็นรายได้เฉลี่ยต่อปี ด้านขวา(สีแดง)เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา (Education cost) ในกลุ่มให้บริการทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 190,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับรายได้ต่ำสุดต่อปีในกลุ่มนี้ 111,440 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็น 1.7 เท่าของรายได้ต่อปี ในกลุ่มผู้จัดการหรือให้คำปรึกษาด้านการเงิน สถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ค่าใช้จ่ายการศึกษาโดยประมาณ 106,372 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับรายได้ต่ำสุดต่อปีในกลุ่มนี้ 91,420 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็น 1.16 เท่าของรายได้ต่อปี ในกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ค่าใช้จ่ายการศึกษาโดยประมาณ 145,509 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับรายได้ต่ำสุดต่อปีในกลุ่มนี้ 79,160 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็น 1.84 เท่าของรายได้ต่อปี ส่วนใหญ่ผู้ที่ศึกษาในอาชีพหลักๆนี้ จะเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ที่จะได้รับในหนึ่งปี

ที่มา: TITLEMAX,https://www.titlemax.com/discovery-center/salaries-vs-education-costs-of-50-common-u-s-jobs/

                ตัวเลขเหล่านี้อาจจะนำมาเปรียบเทียบกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อรายได้เฉลี่ยต่อปีในประเทศไทย ซึ่งน่าจะบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้เงินยืมจาก กยศ.ได้ แม้ว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อรายได้เฉลี่ยต่อปีในประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่สูงมาก ยังมีนักการเมืองนำไปเป็นประเด็นหาเสียง ว่าจะยกภาระหนี้ให้ หรือลดภาระหนี้บางส่วนให้ เพื่อเอาใจผู้ลงคะแนนเสียงตามวิถีแห่งประชานิยมอันเป็นปรกติทั่วโลก

Posted on

ดัชนีความสุข

ในรายงาน World Happiness Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Gallup World Poll (https://happiness-report.s3.amazonaws.com/2024/WHR+24.pdf) ทำการรวบรวมข้อมูลและสำรวจด้วยแบบสอบถาม Cantril ladder ให้ผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศต่างๆประเมินระดับความสุขของตนเอง ตัวแปรหลักในการพิจารณา คือ รายได้ประชาชาติ (GDP) ต่อบุคคล สวัสดิการทางสังคม สุขภาพ อิสรภาพ ความโอบอ้อมอารี และคอร์รัปชั่น แล้วนำค่าเฉลี่ยของแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน แบบสอบถาม Cantril Ladder เป็นแบบสอบถามที่มักใช้กับการสำรวจความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต โดยมีตัวเลือกหลายตัวเลือกในลักษณะขั้นบันได ขั้นล่างสุดแสดงถึงความพอใจน้อยที่สุด ขั้นบนสุดแสดงถึงความพอใจสูงสุด (ที่มา: Scientific report, https://www.nature.com/articles/s41598-024-52939-y) แหล่งที่มาของข้อมูลและคำถามหลักๆในแบบสอบถาม มีดังนี้

1-รายได้ประชาชาติต่อคนเป็นข้อมูลที่ได้จาก World Bank

2-ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้จาก World Health Organization (WHO)

3-สวัสดิการสังคมได้จากคำตอบจากแบบสอบถาม ด้วยคำถามว่า “ถ้าท่านประสบเหตุร้ายหรือตกอยู่ในสถานะการณ์ที่ลำบาก ท่านมีเพื่อนหรือญาติที่พร้อมให้ความช่วยเหลือหรือไม่” คำตอบที่ต้องการคือ “มี” หรือ “ไม่มี”

4-คำถามเกี่ยวกับความพอใจ: “ท่านพอใจหรือไม่พอใจที่มีอิสระในการเลือกวิถีทางดำเนินชีวิต”

5-คำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในสังคม: “ที่ผ่านมา ท่านบริจาคเงินเพื่อการกุศลหรือไม่”

6-คำถามเกี่ยวกับทุจริตในสังคม: “ท่านมีความเห็นว่า มีการทุจริตอย่างกว้างขวางในรัฐบาลหรือไม่” และ “ท่านมีความเห็นว่า มีการทุจริตอย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจหรือไม่”

7-ปัจจัยบวกวัดด้วยความรู้สึกโดยเฉลี่ยที่ผ่านมา ที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่ทำให้หัวเราะได้ รู้สึกสนุกสนาน ทำในสิ่งที่สนใจ

8-ปัจจัยลบวัดด้วยความรู้สึกโดยเฉลี่ยที่ผ่านมา ที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่ทำให้กังวล เศร้าเสียใจ หรือ ทำให้โกรธ ไม่พอใจ

ค่าเฉลี่ยของข้อมูลที่ได้จากผู้ตอบแบบสอบถามในแต่ละประเทศแสดงในรูปข้างล่างนี้

ที่มา: World Happiness Report 2024, https://happiness-report.s3.amazonaws.com/2024/WHR+24.pdf

ประชาชนของประเทศฟินแลนด์มีความพอใจในคุณภาพชีวิตของพวกเขามากที่สุดในโลก ประชาชนในประเทศเดนมาร์ค ไอซ์แลนด์ สวีเดน มีความพอใจในคุณภาพชีวิตของพวกเขารองลงมา ประชาชนในประเทศไทยมีความพอใจในคุณภาพชีวิตของพวกเขาเป็นอันดับที่ 58 ตามมาด้วยประเทศมาเลเซีย และประเทศจีน ด้านล่างของตารางเป็นประเทศเซียร่าลีโอน เลโซโธ เลบานอน และแอฟกานิสถาน

Posted on

มุ่งสู่ Thailand Zero Dropout

เป็นที่น่ายินดีที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้ความสนใจกับการศึกษาของชาติ แต่ก็น่าแปลกใจที่ทำไมจึงไม่เป็นข่าวจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อาจเป็นการส่งผ่านข้อมูลจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไปยังนายกรัฐมนตรี ตามข่าวจากเวปไซท์ของรัฐบาลไทยด้านล่าง

“…นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ห่วงใยอนาคตของเยาวชนไทยที่เสี่ยงจะหลุดนอกระบบการศึกษา จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการฐานข้อมูล ค้นหาช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี กว่า 1.02 ล้านคน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา…”

ที่มา: รัฐบาลไทย (https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/85370)

                จากรายละเอียดเพิ่มเติมในเวปไซท์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับปีการศึกษา 2566 ได้แก่

                -มีนักเรียนยากจน 1.8 ล้านคนที่ยากจนและมีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา

                -ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ครอบครัวเด็กยากจนต้องแบกรับ สูงถึง 22% ของรายได้ ซึ่งสูงกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย

                -จำนวนนักเรียน 1 ล้านคนมาจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนของ สศช.ที่ 2,803 บาท ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากรัฐบาล

                -ในจำนวนประชากรวัยแรงงานทั้งหมด 20 ล้านคน มีถึง 14.5 ล้านคน หรือ 74% จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า และตกอยู่ในวงจรความยากจน

                -มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ (ต่ำกว่าค่าสถิติของทั้งประเทศมากกว่า 3 เท่า)

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา https://www.eef.or.th/infographic-452234/

                ที่ผ่านมาจำนวนนักเรียนระดับประถมศึกษา มีเพียงราว 66% ของจำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 6-11 ปี และจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษา มีราว 71% ของจำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 12-14 ปี ซึ่งหมายถึงมีเด็กอายุระหว่าง 6-11 ปี ราว 34% ไม่ได้กำลังเรียนอยู่ และเด็กอายุระหว่าง 12-14 ปี ราว 29% ไม่ได้กำลังเรียนอยู่

ที่มา: สำนักนโยบายและแผนการศึกษาพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน

(http://www.bopp.go.th/?page_id=1828)

                สถิติข้างต้นน่าสนใจมากเพราะตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดต้องเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก ตามข้อความอ้างอิงข้างล่างนี้

“……ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปีโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจน อายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไป ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การศึกษาภาคบังคับนั้นต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่บังคับให้ประชาชนต้องเข้าเรียน แต่เป็นสิทธิ์ของคนไทย ส่วนการศึกษาภาคบังคับเป็นการบังคับให้เข้าเรียนถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองตาม มาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ…..” (การศึกษาไทย, https://www.bic.moe.go.th/images/stories/pdf/thailand-education-system.pdf)

                ดูเหมือนสถิติเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด เป็นที่รับทราบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครจะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

Posted on

ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดทุจริตระดับชาติ

องค์กรนานาชาติ Global Infrastructure Anti-Corruption Centre (https://giaccentre.org/why-corruption-occurs/) ได้ระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุจริตระดับชาติไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1.ทุจริตในรัฐบาล (Corruption in government) ทุจริตที่เกิดขึ้นในทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนามักจะเป็นการทุจริตในระดับโครงสร้าง เช่น การหาผลประโยชน์จากโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่อไม่ต้องรับโทษจากการกระทำที่ผ่านมา การทุจริตระดับนี้จะส่งเสริมการทุจริตครั้งต่อๆไปในอนาคต เพราะความมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองจากองค์กรหลักภายในประเทศ หรือรับโทษเพียงเล็กน้อย

2.นโยบายต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลไม่มีความต่อเนื่อง (Lack of consistent anti-corruption policy within government)  รัฐบาลที่ไม่เข้มงวดหรือกวดขันให้มีการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านทุจริตอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง มีส่วนทำให้มาตรการต่อต้านทุจริตไม่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีที่บางหน่วยงานของรัฐที่จงใจละเลยมาตรการต่อต้านทุจริตเพราะเกรงว่าจะทำให้ผลงานของหน่วยงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มาตรการต่อต้านทุจริตที่กำหนดไว้ก็จะไม่มีความหมาย ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญกับมาตรการต่อต้านทุจริตโดยไม่มีข้อยกเว้น

3.ขาดการรายงานเรื่องทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ (Insufficient reporting of corruption) ถ้าไม่มีการรายงานเรื่องทุจริตอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา จะทำให้ผู้ทำผิดไม่เกรงกลัวว่าจะถือจับได้ สาเหตุหลักที่ทำให้ไม่มีการรายงานทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ

  • ขาดความตระหนักถึงความสำคัญ (Lack of awareness) การที่ไม่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจบางอย่าง อาจทำให้รู้ไม่เท่าทัน มองไม่เห็นช่องทางหรือโอกาสที่จะเกิดทุจริต จึงไม่มีการรายงาน
  • ขาดการวางแผนและกำหนดโครงสร้างของรายงานอย่างชัดเจน (Inadequate or non-existent reporting structures) ควรต้องมีการกำหนดโครงสร้าง วิธึการรายงานที่รัดกุมเพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้รายงานว่าจะไม่เกิดอันตรายหลังจากรายงานไปแล้ว
  • ความเชื่อว่ารายงานเรื่องทุจริตที่พบเห็นก็ไม่มีอะไรดีขึ้น (Belief that nothing will happen if they report) อาจเป็นเพราะประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่ถูกรายงานว่าทุจริตก็ไม่ได้ถูกลงโทษอย่างสาสม ทำให้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่ารายงานเรื่องทุจริตที่พบเห็นก็ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยที่จะรายงานทุจริตที่พบเห็น
  • กลัวว่าจะถูกตอบโต้ ล้างแค้น (Fear of retaliation) ความกลัวที่จะถูกตอบโต้ ล้างแค้น ทำให้หลายคนไม่อยากมีส่วนร่วมในการรายงานทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ทุจริตเป็นผู้มีอิทธิพล หรือเป็นข้าราชการระดับสูง
  • กลัวผลที่จะตามมา (Fear of consequences) ที่ต้องเข้าไปพัวพัน อาจจะเป็นกระบวนสอบสวน การที่ต้องเป็นพยาน หรือแม้แต่ถูกฟ้องกลับในฐานะให้การเท็จ

4.ขาดมาตรการลงโทษที่รุนแรงและสาสมกับความผิด (Insufficient prosecution of corruption) ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาที่ไม่มีการลงโทษผู้ทุจริตอย่างรุนแรง และจริงจัง จะทำให้ผู้ที่มีโอกาสจะทุจริตไม่เกรงกลัวและจะทำการทุจริต ก็เหมือนกับส่งเสริมให้มีการทุจริต อีกทั้งการเลือกลงโทษเฉพาะผู้ทุจริตระดับล่างและละเลยที่จะลงโทษผู้ทุจริตที่มีหน้าที่การงานระดับสูง อาจเป็นเพราะความเกรงใจหรือเกรงกลัวอิทธิพล จะทำให้มาตรการป้องกันการทุจริตไม่ได้ผล

5.เปิดโอกาสให้พนักงานทุจริต (The vulnerability of project owners’ employees to corruption) โครงการใหญ่ๆที่เป็นของรัฐ และอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าของหน่วยงานของรัฐ มีโอกาสที่จะเกิดทุจริตได้ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น

  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการไม่มีแรงจูงใจที่จะรักษาผลประโยชน์ให้กับรัฐ
  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการขาดความน่าเชื่อถือ และศักยภาพที่จะควบคุมโครงการ และมักจะละเลยความเสียหายบางอย่าง เพราะเห็นว่าเป็นความสูญเสียเล็กน้อย จึงทำให้งานไม่มีคุณภาพ
  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการขาดความเป็นอิสระในการควบคุมและบริหารโครงการ
  • ในบางประเทศเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการมีรายได้ประจำน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงเป็นสาเหตุให้ทุจริตเพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว

6. เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต (The vulnerability of other government employees to corruption) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต เช่น วีซ่า นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และใบอนุญาตทางธุรกิจอื่นๆ มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ประกอบการได้ง่ายๆ ด้วยการใช้เวลาในการออกใบอนุญาตนานมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงมักเสนอผลประโยชน์พิเศษให้เพื่อเร่งรัดขั้นตอน และเวลาที่ใช้ในการออกใบอนุญาต

7. ขาดการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับรู้ (Lack of publicly available data on corruption convictions) การประชาสัมพันธ์ของรัฐให้สาธารณชนรับรู้ความจริงเกี่ยวกับการทุจริตเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ที่ถูกลงโทษจากการทุจริตพยายามบิดเบือนความจริง โดยให้ข่าวที่ไม่เป็นจริง หรือให้ข่าวเป็นบางส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ผิดกับสาธารณชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องให้ข่าวที่ถูกต้องผ่านสื่อที่ทันสมัย สร้างการรับรู้ความเป็นจริง เป็นการลบอคติที่มีกับภาครัฐ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการกำจัดและปราบปรามทุจริต 8.ขาดข้อมูลที่สาธารณชนสามารถเปรียบเทียบได้ (Lack of sufficient data regarding comparative costing of infrastructure projects, materials, and methods) การให้ข้อมูลแก่สาธารณชนเพื่อนำไปเปรียบเทียบ เป็นการชี้แจงและเปิดโอกาสให้สาธารณชนเปรียบเทียบด้วยตนเอง และค้นหาสิ่งผิดปรกติซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริต

Posted on

ระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในเยอรมนี

ระบบดูแลผู้สูงอายุในประเทศเยอรมนีที่เรียกกันว่า Long-Term Care Insurance (LTCI) เป็นโปรแกรมที่เป็นหลักประกันให้ผู้สูงอายุสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยหรือพิการ ซึ่งจำแนกเป็น 3 ลักษณะ คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล (care allowance) ค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาล (Home care) และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่บ้าน (residential care) โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสุขภาพในขณะนั้น แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 ความจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลพอประมาณ (วันละหนึ่งครั้ง ครั้งละประมาณ 90 นาที)

ระดับที่ 2 สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลปานกลาง (วันละ 3 ครั้ง รวมประมาณ 180 นาทีต่อวัน)

ระดับที่ 3 การดูแลแบบใกล้ชิดอย่างมาก (ตลอดเวลา หรือ ประมาณ 300 นาทีต่อวัน)

ต่อมาในปี ค.ศ. 2015 มีการเปลี่ยนแปลงในระเบียบการกำหนดระดับความต้องการดูแล (Need of care) ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติในปี ค.ศ. 2017 โดยพิจารณาจากปัจจัย 5 อย่างเพื่อกำหนดความต้องการการดูแลที่มีผลจากทางกายภาพและจิตภาพ และให้น้ำหนักเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้ (Backer, June 2016)

1. ความบกพร่องในการเคลื่อนไหว (10%)

2. ความบกพร่องในการสื่อสารและความจำ (15%)

3. ความบกพร่องทางพฤติกรรมและทางจิต (15%)

4. ความบกพร่องในการพึ่งพาตัวเอง (40%)

5. ข้อจำกัดทางสุขภาพและผลจากการรักษาพยาบาล (20%)

ความต้องการดูแล (Need of care) จะถูกแบ่งเป็น 5 ระดับตามเปอร์เซ็นต์ความบกพร่อง เช่น Grade 1: 12.5 – 27% จนถึง Grade 5: 90 – 100%

ระบบประกันสุขภาพในประเทศเยอรมนีก็ประสบปัญหาเดียวกับประเทศอื่นเช่นกัน ในเรื่องของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในการประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประเทศเยอรมนีได้เริ่มระบบประกันสุขภาพระยะยาว (Long-term care insurance, LTCI) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 โดยมีหลักการ ดังนี้ (Curry, Schlepper, & Hemmings, September 2019)

1.ร่วมกันรับความเสี่ยง (Risk-pooling) การกระจายความเสี่ยงเป็นการช่วยไม่ให้คนหนึ่งคนใดรับความเสี่ยงมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสียหายที่เกินการแบกรับ

2.ความโปร่งใส (Transparency) เงินในกองทุนเป็นเงินสมทบจากรายได้ ซึ่งจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นโดยเด็ดขาด และไม่นำเงินจากแหล่งอื่นมาสมทบ

3.หลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายที่แน่นอน (Consistency of eligibility) หลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอายุ วิธีการ และหลักเกณฑ์การพิจารณาที่แน่นอน

4.ผลประโยชน์ขั้นต่ำที่ชัดเจน (Clarity of benefit) จากเงินสมทบรายเดือนที่ผู้ร่วมกองทุนจะต้องจ่ายที่ชัดเจน แน่นอน

5.ความมั่นคงของผู้ให้หลักประกัน (Stability for providers) ความมั่นคงของผู้ให้หลักประกันสร้างความเชื่อมั่นและความสามารถในการแข่งขัน

6.ความยุติธรรม (Fairness) ผู้เอาประกันที่จ่ายเท่ากัน ต้องได้รับผลประโยชน์เท่ากัน

                บทเรียนจากระบบประกันสุขภาพของเยอรมนี

                1.ความสำเร็จของระบบประกันสุขภาพต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ

                2.ความโปร่งใส ชัดเจน และยุติธรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของสังคม

                3.แบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายระหว่างกองทุนและผู้รับการประกันอย่างชัดเจน โดยกำหนดผลประโยชน์ขั้นต่ำที่กองทุนจะจ่ายให้ ส่วนผู้ร่วมกองทุนต้องรับผิดชอบส่วนเกิน

                4.ต้องมีการแบ่งส่วนและเก็บรักษากองทุนอย่างเคร่งครัด (Ring-fencing)

                5.สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการมีความมั่นคงและยืดหยุ่น

                6.แผนระยะยาวเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ แม้ว่าเปลี่ยนรัฐบาล

                7.การจ่ายผลประโยชน์เป็นเงินสด สามารถทำได้อย่างระมัดระวัง

                8.มีความยืดหยุ่นในการกำหนดวิธีการปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงการบริการอย่างไม่เป็นทางการ (Informal care)

                9.สนับสนุนการให้บริการในชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainable community-based care)

                เป็นที่น่าสังเกตว่าระบบประกันสุขภาพของประเทศเยอรมนีมีการแบ่งความรับผิดชอบ โดยที่กองทุนและผู้รับประกันในระบบรับบางส่วน และให้ผู้เอาประกันรับผิดชอบบางส่วน ทั้งนี้เพื่อรักษาความยั่งยืนของระบบ ระบบในประเทศของเราจึงควรปรับให้มีการแบ่งความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน อีกทั้งต้องป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากภายนอก

เอกสารอ้างอิง:

Backer, G. (June 2016). Reform of the long-term care in Germany. Brussels: European Social Policy Network (ESPN).

Curry, N., Schlepper, L., & Hemmings, N. (September 2019). What can England learn from the long-term care system in Germany? London, UK: nuffieldtrust.

Posted on

องค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัชั่นในประเทศสิงคโปร์ (Corrupt Practices Investigation Bureau, CPIB)

หลายคนคงมีคำถามในใจว่าประเทศสิงคโปร์มีอะไรที่ทำให้เป็นประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดประเทศหนึ่ง Transparency International ได้จัดให้ประเทศสิงคโปร์มีความโปร่งใสเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ประเทศสิงคโปร์มีการจัดตั้งองค์กรชื่อว่า Corrupt Practices Investigation Bureau (CPIB) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 CPIB เป็นองค์กรอิสระขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่หลักคือการสืบสวนและป้องกันการคอร์รัปชั่นกับทุกองค์กรในสิงคโปร์ และแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งเบาะแสของคอร์รัปชั่นมาที่ CPIB ได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี มีทั้ง

  1. เขียนจดหมายถึงสำนักงานของ CPIB
  2. โทรศัพท์แจ้งโดยตรง
  3. ส่งผ่าน e-complaint
  4. ส่งทาง e-mail ถึง report@cpib.gov.sg
  5. ส่งแฟกซ์

ผู้แจ้งเบาะแสมีสิทธิที่จะไม่เปิดเผยตัวตนต่อ CPIB หรือแม้แต่จะเปิดเผยกับ CPIB ก็จะได้รับการปกปิดเป็นความลับ ยกเว้นแต่ศาลให้เปิดเผย ในกรณีที่เป็นการแจ้งเท็จ

องค์กร CPIB แบ่งเป็น 3 หน่วยงานหลัก คือ 1. ฝ่ายสืบสวน (Investigations Department) ซึ่งรับผิดชอบในอำนาจน้าที่หลักขององค์กร 2. ฝ่ายสนับสนุนงานสืบสวน (Operations Department) สนับสนุนการดำเนินการขององค์กร วิเคราะห์กรณีต่างๆและประสานงานกับองค์กรอื่นๆในต่างประเทศ 3. ฝ่ายธุรการและดำเนินการ (Corporate Affairs Department) บริหารจัดการบุคลากร การเงิน การวางแผน และอื่นๆ

องค์กร  CPIBได้มีการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆมากมาย คู่มือปฏิบัติเพื่อป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นสำหรับการดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ (PACT: A Practical Anti-Corruption Guide for Businesses in Singapore) เป็นหนึ่งในเอกสารเผยแพร่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก มีข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการทุจริตคอร์รัปชั่น มีกรณีศึกษาให้เป็นตัวอย่าง ได้แก่

1. การเรียกร้องค่าคอมมิสชั่น (A corporation’s corrupt commission)

2. ความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมประเพณีกับคอร์รัปชั่น (Fine line between tradition and corruption)

3. ค่ากาแฟเล็กน้อยคงไม่เป็นไร (A little coffee money “did no harm”)

        การศึกษาเปรียบเทียบองค์กรที่ทำหน้าที่ลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศต่างๆที่ได้รับจากจัดอันดับระดับสูง (มีความโปร่งใสมาก) จาก Transparency International  (การศึกษาเปรียบเทียบองค์กรที่ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รปชั่นในสิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้: ข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย โดย สุริยานนท์ พลสิม, วารสารการเมืองการปกครอง ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2562) ได้เปรียบเทียบรูปแบบองค์กรและแนวทางดำเนินงาน อีกทั้งให้ข้อสนอแนะต่อประเทศไทย ดังนี้

        1.การจัดตั้งเครือข่ายหรือคณะทำงานด้านการป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับท้องถิ่น: ป.ป.ถ. (Local Anti-Corruption: LACC)

        2. การควบรวมหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศไทย (สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ให้เป็นองค์กรเดียว

        3.การออกแบบระบบปฏิบัติงานเชิงรุกด้านการป้องกันคอร์รัปชั่น (Corruption Prevention) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานสืบสวนการทุจริตฯของประทศอื่น                 ข้อเสนอแนะข้างต้นน่าสนใจมากและน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย และถ้ามีข้อเสนอจัดทำมาตรการกำจัดทุจริตภายในองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตฯด้วย ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตฯเหล่านี้ และอาจทำให้อันดับของประเทศไทยบนตารางของ Transparency International สูงขึ้น

Posted on

ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia

คนที่เคยชื่นชม สนุกกับกิจกรรมบางอย่าง ทั้งในที่ทำงานหรือที่บ้าน ในบ้านหรือนอกบ้าน แต่อยู่ๆก็รู้สึกว่ากิจกรรมเหล่านั้นไม่น่าสนใจอีกต่อไป ภาวะอย่างนี้เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับอาการซึมเคร้า อาการของภาวะสิ้นยินดี มีทั้งอาการทางสังคมและอาการทางร่างกาย อาการทางสังคมมักจะเห็นได้จากความเบื่อหน่ายที่จะร่วมสังสรรค์พูดคุยกับคนรอบข้าง ส่วนอาการทางร่างกายอาจจะไม่ใช่การการไม่รับรู้ รส กลิ่น และเสียง แต่เป็นการไม่รู้สึกชื่นชอบกับ รส กลิ่น และเสียง ที่เคยชอบ เพลงที่ชอบ อาหารที่เคยโปรดอย่างมาก กลับไม่ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆอย่างแต่ก่อน ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) อาจมีอาการคล้ายกับภาวะไม่แยแส (Apathy) แต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน บางคนอาจมีทั้งสองภาวะในเวลาเดียวกัน

                ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) เป็นอาการของโรคหรือความผิดปรกติทางร่างกายและทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) โรคจิต (Schizophrenia) โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar disorder) โรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง (Parkinson’s disease) การบาดเจ็บทางสมอง (Traumatic brain injury) เป็นต้น

ที่มา: Cleveland Clinic (https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/25155-anhedonia)

นอกจากการสังเกตอาการแล้ว แพทย์อาจจะตรวจผลเลือดเพื่อดูปริมาณวิตามินดี (Vitamin D) และสมดุลย์ฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ประกอบด้วย การรักษาและบรรเทาภาวะดังกล่าวอาจทำได้โดย

  • การบำบัดความคิดและพฤติกรม (Cognitive behavioral therapy)
  • รักษาด้วยยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic medications)
  • รักษาด้วยยาต้านอาการภาวะซึมเศร้า (Antidepressant medications และ Selective serotonin reuptake inhibitors)
  • รักษาด้วยยาเคตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (Ketamine)
  • การบำบัดด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy)
  • การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial magnetic stimulation)

ผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีสามารถบำบัดหรือบรรเทาได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการเดินหรือโยคะก็ได้ ในระหว่างการออกกำลังกาย ร่างกายจะขับสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขเพื่อกระตุ้นให้ต้องการกระทำหรือมีพฤติกรรมที่ชื่นชอบ ด้วยความมั่นใจ กระตือรือร้น และท้าทายให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ

ที่มา:       1.รู้จักกับสารแห่งความสุข: โดปามีน/www.okmd.or.th

                2.Ahdonia/Cleveland Clinic (https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/25155-anhedonia)

Posted on

ดัชนีวัดระดับคอรัปชั่น

องค์กร Transparency International (transparency.org) ได้นิยาม คอรัปชั่น (Corruption) ไว้ว่า เป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งใกล้เคียงกับคำนิยามที่องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) (anticorruption.or.th) ที่ให้ไว้ว่า

คอร์รัปชัน หมายถึง ความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ, ความผิดที่เกี่ยวกับความยุติธรรม และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการบุติธรรม ซึ่งกล่าวง่ายๆ คือ การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรชอบได้ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เช่น 
1. การเบียดบังทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต 
2. ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ 
3. การบอกว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน

องค์กร Transparency International คำนวณ CPI โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ World bank, World economic forum, Private risk and consulting companies และ Think tanks อื่นๆ

ข้อมูลจากแหล่งต่างๆแสดงในช่วงคะแนนต่างกัน จึงต้องนำมาปรับให้อยู่ในช่วงคะแนนเดียวกันระหว่าง 0 ถึง 100 เพื่อสะดวกในการเปรียบเทียบ โดยกำหนดให้ 0 เป็นคะแนนที่แสดงถึงการคอรัปชั่นอย่างมาก ในขณะที่คะแนน 100 แสดงถึงความใสสะอาด

รายงานล่าสุดปี ค.ศ. 2023 พบว่า 5 ประเทศในโลกที่ได้คะแนนสูงสุด (มีความโปร่งใสมาก คอรัปชั่นน้อย) คือ ประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และสิงคโปร์

ประเทศไทยได้คะแนน 35 จาก 100 อยู่ในอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศ ช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้คะแนนระหว่าง 35-38 จาก 100 ซึ่งดูเหมือน พวกเรา (ที่เป็นผู้สูงวัย) ทำได้ไม่ค่อยดี และต้องทิ้งไว้ให้เป็นภาระของรุ่นต่อไป

Posted on

โรคนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

7 มกราคม 2567

ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ บ้างทราบสาเหตุ บ้างไม่ทราบสาเหตุ การนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความเครียดและเป็นต้นเหตุให้ร่างกายอ่อนแอและเกิดโรคอื่นๆตามมา มีการวินิจฉัยถึงสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ และมีคำแนะนำในการแก้ปัญหามากมายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรวบรวมเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ ดังนี้

“เมื่อผู้สูงอายุนอนไม่หลับ”

โดย ศ.นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อเอ่ยถึงความชรา ท่านผู้อ่านคงนึกถึงคนที่มีผมสีดอกเลา เดินหลังค่อมเล็กน้อย ผิวหนังหยาบกร้านและเหี่ยวย่น แต่นั่นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากภายนอก มีใครบ้างที่คิดว่าความชรายังมีผลกระทบไม่น้อยต่อการเปลี่ยนแปลงในอวัยวะระบบต่างๆ หนึ่งในอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั้นก็คือ สมอง อวัยวะที่มีน้ำหนักราว 1400 กรัม ในศีรษะของเรานั่นเอง

            อาการนอนไม่หลับก็เป็นอาการหนึ่งที่เกิดจากสมองทำงานไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกับอาการหมดสติหรือหลับไม่ยอมตื่น แต่อย่างหลังดูจะทำให้ญาติหรือคนใกล้ชิดตกใจได้มากกว่าและรีบพาไปพบแพทย์ ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับ ญาติมักจะปล่อยปละละเลย บางครั้งผู้ป่วยก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการไปซื้อยานอนหลับมารับประทานเอง ซึ่งยานอนหลับก็เป็นดาบสองคมได้บ่อยๆ ในผู้สูงอายุ จากผลการศึกษาในประชากรผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปที่อยู่ในชุมชน ได้รับความทนทุกข์ทรมานของอาการนอนไม่หลับถึงมากกว่าครึ่ง ยิ่งกว่านั้นอาการนอนไม่หลับอาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่นๆ ทางสมอง ที่สมควรได้รับการตรวจพบและแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งหมดนี้แสดงถึงขนาดของปัญหานอนไม่หลับและความรุนแรงของอาการที่ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาสนใจอย่างจริงจัง

สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

1. เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความชรา
โดยปกติเมื่อมนุษย์เริ่มเข้าสู่วัยชรา สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเหมือนเช่นอวัยวะอื่น โดยลักษณะการนอนของผู้สูงอายุจะมีลักษณะดังต่อไปนี้  
            • ระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลง
            • ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนเพื่อที่จะหลับ
            • ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น ( ตอนที่กำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับสนิท ) จะยาวขึ้น ขณะที่ช่วงระยะที่หลับสนิทจริงๆ จะลดลง
            • จะมีการตื่นขึ้นบ่อยๆ กลางดึก
ดังนั้นผู้สูงอายุแม้จะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ สมวัย ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองนอนน้อยลง หรือคิดไปว่านอนไม่หลับ แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้จะดูเหมือนว่า “ นอนไม่หลับ ” แต่ช่วงกลางวันก็มักจะไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอนแต่อย่างใด

2. เกิดเนื่องจากมีโรคที่เป็นพยาธิสภาพซ่อนอยู่ ได้แก่
            • จากยาที่ผู้สูงอายุกำลังใช้อยู่
               ยาบางประเภทโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ เช่น การใช้ยานอนหลับนานๆ ยารักษาอาการสั่น เคลื่อนไหวช้าในโรค Pakinsonism หรือบางครั้งอาจเป็นส่วนผสมของยารักษาโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทางสมองเช่น alcohol ในพวกยาน้ำแก้ไอ หรือ caffeine ที่ผสมในยารักษาโรคหวัด เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุหยุดการใช้ยาเหล่านี้ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง
            •  โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
                ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ ตอนกลางคืน ก็จะมีผลต่อการนอนด้วย เช่น โรคเบาหวาน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณปัสสาวะมาก โรคต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุชาย โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่การใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือภาวะหัวใจวาย ก็ทำให้มีปัสสาวะตอนกลางคืนได้บ่อย             
            •  ความเจ็บปวด
                ความเจ็บปวดทางกายไม่ว่าจากอวัยวะใด จะมีผลทางอ้อมต่อการนอนหลับในผู้สูงอายุเสมอ ที่พบบ่อยมักเกิดจาก โรคของกระดูกและข้อเสื่อม ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้ เช่น ข้อเข้าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม เป็นต้น นอกจากนั้นอาการเจ็บปวดอาจเกิดจากอวัยวะภายในช่องท้องเช่น ท้องผูก แน่นท้อง อาการไม่ย่อย เป็นต้น
            •  โรคสมองเสื่อมและภาวะจิตผิดปกติ
ิ                ผู้สูงอายุที่เริ่มมีสมองเสื่อมในระยะแรกจะมีอาการนอนไม่หลับได้ เพิ่มจากอาการขี้หลงขี้ลืม หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนสาเหตุของสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทยมักเกิดจากการอุดตันของเส้นโลหิตในสมองที่เกิดซ้ำกันหลายๆ ครั้ง อาจจะมีหรือไม่มีอาการของอัมพาตร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้นภาวะซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการนอนยากในผู้สูงอายุได้ โดยผู้ป่วยมักจะมีลักษณะที่เข้านอนได้ตามปกติ แต่ตื่นขึ้นกลางดึกเช่น ตี 3-4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก
            •  อื่นๆ
                ผู้สูงอายุบางรายเวลานอนหลับสนิท สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการหายใจจะทำงานลดลง ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจได้ชั่วขณะ จากนั้นสมองจะถูกกระตุ้นอีกครั้งอย่างรุนแรงเพื่อให้หายใจ ขณะนั้นผู้ป่วยอาจตื่นขึ้นมาได้ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่องได้ หรือบางรายเวลาหลับสนิท ลิ้นในช่องปากจะตกย้อนไปข้างหลังและอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้ และถ้าอุดกั้นมากขึ้นถึงกับทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าหลอดลมและปอด สมองก็จะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง เพื่อให้ร่างกายพยายามหายใจก็ทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นได้อีกเช่นกัน

            จากสาเหตุของการนอนหลับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วย ประวัติการนอน และตรวจร่างกายจากแพทย์โดยละเอียดเพื่อสืบสาวถึงสาเหตุที่แท้จริงของการนอนไม่หลับในผู้ป่วยแต่ละราย

            ในขั้นต้น ผู้สูงอายุที่เริ่มประสบปัญหาการนอนไม่หลับ มีข้อปฏิบัติบางประการที่อาจช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ ดังนี้
            •  พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
            •  หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ , เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะเวลาเย็น เป็นต้น
            •  ไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยๆ
            •  เพิ่มกิจกรรมหรือการออกกำลังกายในช่วงเวลากลางวันให้มากขึ้น
            •  ถ้าผู้สูงอายุไม่มีอาการง่วงนอนเมื่อถึงเวลาเข้านอน และไม่สามารถนอนหลับได้ ก็ควรลุกขึ้นมาหาอะไรทำดีกว่าที่จะนอนกลิ้งไปมาบนเตียง
            •  กำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่สม่ำเสมอและควรจะเป็นอาหารที่มี protein สูงเมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ
            •  พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบและมืดพอสมควร ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
            •  ฝึกการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ

           โดยสรุป ผู้สูงอายุมักประสบกับปัญหาการนอนไม่หลับได้บ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากความชรา มีผลกระทบต่อความเสื่อมของสมอง ผู้สูงอายุโดยทั่วไปจึงควรทำความเข้าใจกับปัญหาที่เป็น “ ปกติ ” ในผู้สูงอายุและพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น และเมื่ออาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น ผู้สูงอายุก็อาจจำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อค้นหาโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุต่อไป

อ่านเพิ่มเติม … https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_008.html

“2 สาเหตุทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ พร้อมวิธีแก้ไข”

โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ยิ่งอายุมากขึ้นร่างกายของเรายิ่งเสื่อมขึ้นตามวันวัย การทำงานของสมองจึงรวนพร้อมกับไม่เป็นปรกติดั่งเช่นคนหนุ่มสาว ซึ่งสัญญาที่เป็นเครื่องยืนยันว่าหลักเลขได้เข้าสู่โหมดผู้สูงวัยนั้นก็คือ “การนอนไม่หลับ” และมีการตื่นในช่วงกลางดึกบ่อยๆ อันเป็นการอาการเริ่มแรกบ่งบอกของโรคต่างๆ ทางสมอง

สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุนอกจากเกิดจากอายุที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นสมองของคนเราจะเสื่อมไปตามวัยนั้นพบได้ในผู้สูงอายุทุกเพศและแทบทุกคนแม้ว่าผู้สูงอายุจะมีสุขภาพดีก็ตาม สาเหตุที่สำคัญรองลงมาคือมีโรคซ่อนอยู่ ภายในร่างกายแบ่งออกได้คือ

1.ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ทำให้มีผลกระทบในการนอนต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน โรคต่อมหมวกไตหรือไตวายเรื้อรัง โรคเหล่านี้ทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง โรคข้อเสื่อมหรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรังก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดตามร่างกายส่งผลทางอ้อมต่อการนอนหลับ

2.เกิดมาจากยาระบบประสาทหรือสมอง เช่นการใช้ยานอนหลับเป็นระยะเวลานาน การใช้ยาในการรักษาโรคพาร์กินสัน หรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิด อาทิเช่น ยาน้ำแก้ไอที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เจือปนอยู่ เมื่อผู้สูงอายุใช้ยาเหล่านี้จะส่งผลต่อการนอนไม่หลับ ซึ่งหากผู้สูงอายุหยุดกินยาเหล่านี้อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง

วิธีป้องกันและรักษาให้นอนหลับได้มากขึ้น

ควรหลีกเลี่ยงการนอนหลับในเวลากลางวันเป็นระยะเวลานานๆ งดการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

เลือกรับประทานอาหารเย็นให้เป็นเวลาและควรกินอาหารที่มีโปรตีนสูงพร้อมทั้งเพิ่มกิจกรรมหรืออกกำลังกายในช่วงกลางวันให้มากขึ้นและเมื่อถึงเวลานอนแต่ผู้สูงอายุไม่ง่วงควรหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ

ห้องนอนไม่ควรสว่างเกินไปเพราะแสงสว่างจะรบกวนการนอนหลับและฝึกทำสมาธิก่อนนอนเพื่อให้จิตใจสงบจะทำให้นอนหลับได้ลึกและเต็มอิ่ม

ทั้งนี้ทั้งนั้นหมั่นทำให้เป็นตารางและแบบแผนเท่านี้คุณก็จะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสดชื่นผ่องใสเพราะสมองได้รับการพักผ่อนแถมสุขภาพยังแข็งแรงห่างไกลโรคไม่ต่างกับวัยหนุ่มสาวเมื่อคราอดีต…

อ่านเพิ่มเติม … https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27751

“สาเหตุการนอนไม่หลับของผู้สูงวัย”

ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

 

การนอนหลับถือเป็นการพักผ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่จากการสำรวจกลับพบว่าในประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาการนอนไม่หลับสูงถึง 50% มีภาวะการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ 2-10% ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและควรทำความเข้าใจ

การนอนหลับเป็นการพักทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

เพราะระหว่างที่นอนหลับร่างกายจะกลับสู่ภาวะสมดุล เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจและชีพจร รวมถึงฮอร์โมนต่างๆ ที่มีการหลั่งอย่างสม่ำเสมอ ส่วนทางด้านจิตใจพบว่าในขณะนอนหลับ ร่างกายจะมีการรวบรวมข้อมูลในชีวิตประจำวันมาเก็บไว้เป็นความทรงจำ ให้สภาพจิตใจได้ผ่อนคลาย และให้ร่างกายได้แก้ปัญหาต่างๆ ช่วงที่พักจิตใจ

ในกรณีที่ร่างกายนอนหลับไม่เพียงพอ

จะส่งผลกระทบให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ความจำลดลง สมองตื้อ คิดอะไรไม่ค่อยออกหรือคิดได้ช้าลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิต นอกจากนี้ในด้านจิตใจ การนอนไม่หลับยังก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลได้ หรือเป็นปัญหาพื้นฐานในเรื่องของอาการซึมเศร้าได้ด้วย

สาเหตุการนอนไม่หลับโดยทั่วไป มักมาจาก

ปัญหาวิตกกังวล เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต การเปลี่ยนงาน การย้ายงาน และอื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกกังวลใจ ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับได้ นอกจากนี้ในเรื่องของอายุก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งพบว่าในผู้สูงอายุมักมีการนอนไม่หลับสูงกว่าวัยอื่นๆ

สาเหตุการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ ได้แก่

การทำงานของร่างกายที่เสื่อมลง ระดับฮอร์โมนที่ลดง โรคประจำตัวที่รบกวนการนอน และการรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด ทำให้การนอนหลับลึกหรือพักผ่อนร่างกายของผู้สูงอายุมีเปอร์เซ็นน้อยกว่าคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นลักษณะปกติของผู้สูงอายุ แต่ถ้าหากในผู้สูงอายุรายไหนที่มีความวิตกกังวลอาจส่งผลให้การนอนไม่หลับมีอาการที่หนักขึ้นกว่าเดิมได้

ในเรื่องของการตื่นนอนกลางดึกที่ผู้สูงอายุรวมถึงคนส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกเพราะคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วหากมีการตื่นกลางดึกและสามารถนอนหลับต่อได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง และไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนแต่อย่างใด

การรักษาปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

เริ่มต้นให้ดูก่อนว่าผู้ประสบปัญหามีเรื่องใดวิตกกังวลอยู่หรือไม่ หากมีให้จัดการที่เรื่องนั้น เมื่อไม่มีความวิตกกังวลก็จะสามารถนอนหลับได้ในที่สุด สำหรับผู้ที่ไม่มีเรื่องวิตกกังวล อาจมีในเรื่องของโรคประจำตัวที่รบกวนการนอน ซึ่งควรดูแลที่ตัวโรคนั้นๆ

แต่ในผู้สูงอายุบางรายมีความวิตกกังวลในเรื่องของการนอนไม่หลับโดยตรง ส่วนนี้ควรให้ผู้สูงอายุทำจิตใจให้ผ่อนคลายก่อนนอน อาจฟังเพลงในจังหวะเบาๆ หรือสวดมนต์ รวมถึงการทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อความผ่อนคลายแล้วจึงเข้านอน จะช่วยให้หลับสบาย ไม่ควรสั่งหรือบังคับให้ตัวเองนอน เพราะจะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น และส่งผลให้นอนไม่หลับ

นอกจากนี้สิ่งที่ควรทำคือการควบคุมระยะเวลาในการนอน คือการตื่นและการนอนให้ตรงเวลาในทุกๆ วัน จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

สำหรับการใช้ยานอนหลับ

เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษา แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะไม่ค่อยใช้ยาในการรักษา แต่จะรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ก่อน เว้นแต่ในกรณีที่คนไข้มีความต้องการที่จะรักษาโดยเร็วที่สุด แพทย์จึงจะใช้ยาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรมการซื้อยาทานเอง อาจเป็นยาที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาลดน้ำมูกที่ช่วยให้นอนหลับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นวิธีที่ไม่แนะนำเพราะอาจส่งผลข้างเคียงตามมา

วิธีการสังเกตว่าอาการระดับไหนที่ควรพบแพทย์

ให้พิจารณาว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือไม่ หากการนอนไม่หลับนั้นเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิต สักประมาณ 1 สัปดาห์ ควรได้รับการรักษา

อ่านเพิ่มเติม … https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/นอนไม่หลับผู้สูงวัย/

“คู่มือการนอนหลับเพื่อสุขภาพที่ดี”

กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

การนอนหลับเป็นความจําเป็นพื้นฐานที่สําคัญมากในการดํารงชีวิต เช่นเดียวกับ การหายใจ การดื่มน้ำและการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ความสำคัญของการนอน คือ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน ได้ซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย ตลอดทุกช่วงวัยตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน การนอนหลับมีบทบาทสำคัญกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย สมอง และระบบประสาท การเรียนรู้ เก็บความจําและการทํางานของระบบภูมิคุ้มกัน ในวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มีความต้องการเวลานอนหลับที่แตกต่างกัน การอดนอนหรือนอนหลับไม่เพียงพอความผิดปรกติ หรือโรคของการนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย สมอง และจิตใจ ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคสมอง โรคอ้วน โรคซึมเศร้า ภูมิต้านทานต่ำ ติดเชอได้ง่าย และการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและในการทำงาน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม … https://dopah.anamai.moph.go.th/web-upload/8x6b2a6a0c1fbe85a9c274e6419fdd6071/202103/m_magazine/24466/2307/file_download/8eeb5487769814c0a8dc8bea5e0de976.pdf