ระบบรักษาพยาบาลชุมชนในประเทศสิงคโปร์ (CHAS)

ในประเทศสิงคโปร์มีโปรแกรมช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลสำหรับประชาชน พอจะเทียบเคียงกับกองทุนบัตรทองของไทย ชื่อ CHAS ย่อมาจาก Community Health Assist Scheme จึงน่าสนใจที่จะนำมาเปรียบเทียบกัน นำข้อดีมาปรับปรุงกองทุนบัตรทองของเรา ข้อมูลจากเวปไซต์ CHAS (https://www.chas.sg/pages/default.aspx) พอจะสรุปได้ว่า

ผู้มีสิทธิที่จะขอรับเงินช่วยเหลือ

พลเมืองของประเทศสิงคโปร์และผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พำนักอย่างถาวรทุกคนมีสิทธิที่จะขอรับเงินช่วยเหลือ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามรายได้ และจะได้รับบัตร CHAS ตามสี ดังนี้

1.บัตรสีเขียว (CHAS Green)             ครอบครัวที่มีรายได้จากเงินเดือน หรือธุรกิจส่วนตัว เฉลี่ยอย่างน้อย 2,300 เหรียญสิงคโปร์ต่อคนต่อเดือน

                                                                ครอบครัวที่มีรายได้จากค่าเช่าทรัพย์สินอย่างน้อย 31,000 เหรียญสิงคโปร์ต่อปี

2.บัตรสีส้ม (CHAS Orange)              ครอบครัวที่มีรายได้จากเงินเดือน หรือธุรกิจส่วนตัว เฉลี่ยระหว่าง 1,501-2,300 เหรียญสิงคโปร์ต่อคนต่อเดือน

                                                                ครอบครัวที่มีรายได้จากค่าเช่าทรัพย์สินระหว่าง 21,001-31,000 เหรียญสิงคโปร์ต่อปี

3.บัตรสีน้ำเงิน (CHAS Blue)               ครอบครัวที่มีรายได้จากเงินเดือน หรือธุรกิจส่วนตัว เฉลี่ยไม่เกิน 1,500 เหรียญสิงคโปร์ต่อคนต่อเดือน

                                                                ครอบครัวที่มีรายได้จากค่าเช่าทรัพย์สินไม่เกิน 21,000 เหรียญสิงคโปร์ต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรม Pioneer Generation และ Merdeka Generation สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะเล่าให้ฟังภายหลัง

สิทธิประโยชน์

CHAS ไม่จ่ายให้ทั้งหมด แต่จะช่วยจ่ายให้บางส่วนตามชนิดของการ์ดและโรค ดังนี้

ผู้ถือ CHAS card มีสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลและรักษาฟันตามคลินิกที่ร่วมโครงการ

เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้ถือบัตรเขียวเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าอีกสองกลุ่ม แต่กลับได้รับสิทธิเงินช่วยเหลือน้อยกว่า

และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นในการเปรียบเทียบ อาจจะใช้ค่าแรงขั้นต่ำราว 1,600 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือนเป็นตัวเปรียบเทียบ [ข้อมูลจาก Ministry of Manpower, www.mom.gov.sg]

เงินอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับโรคทั่วไป สูงสุดไม่เกิน 18.50 เหรียญสิงคโปร์ต่อครั้ง หรือ 1.16% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือน

เงินอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับโรคเรื้อรัง สูงสุดไม่เกิน 80 เหรียญสิงคโปร์ต่อครั้ง หรือ 5% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือน และ สูงสุดไม่เกิน 300 เหรียญสิงคโปร์ต่อปี หรือ 1.16% ของค่าแรงขั้นต่ำทั้งปี

สำหรับการรักษาโรคฟัน บัตรเขียวจะไม่สามารถใช้สิทธิเงินช่วยเหลือได้เลย ส่วนบัตรสีส้มและบัตรสีน้ำเงิน สามารถใช้สิทธิเงินช่วยเหลือ ดังนี้

กองทุนบัตรทอง

มาดูงบประมาณกองทุนบัตรทองของไทยบ้าง โดยเรียงจากมากไปน้อย

                -งบทั้งหมดสำหรับปี พ.ศ.2568 เท่ากับ 236,386.52 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น

                -งบเหมาจ่ายรายหัว 181,841.84 ล้านบาท

                -งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 25,383.96 ล้านบาท

                -งบผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 13,506.17 ล้านบาท

                -งบบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5,953.42 ล้านบาท

                -งบผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 4,209.45 ล้านบาท

                -งบเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิ 2,181.23 ล้านบาท

                -งบเพิ่มเติมหน่วยบริการพื้นที่กันดาร-เสี่ยงภัยและจังหวัดชายแดนใต้ 1,490.29 ล้านบาท

                -งบบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 1,298.92 ล้านบาท

                -งบช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 522.92 ล้านบาท

มีผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 47.157 ล้านคน ดังนั้นงบเหมาจ่ายเฉลี่ยรายหัวในปี พ.ศ. 2568 เป็น 3,856.08 บาท

ซึ่งเทียบกับรายได้ขั้นต่ำเฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือนต่อคน หรือ 240,000 บาทต่อปีต่อคน งบเหมาจ่ายเฉลี่ยรายหัวจะเป็น 1.6 %

ภาพจาก: The Coverage [https://www.thecoverage.info/news/content/7975]

น่าจะเป็นข้อมูลให้เปรียบเทียบว่ากองทุนบัตรทองของเราเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับระบบที่ใกล้เคียงกัน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าในประเทศสิงคโปร์มีระบบ CPF อีกด้วย ซึ่งโอกาสหน้าจะเล่าให้ฟัง

โพสท์ใน ทั่วไป | ใส่ความเห็น

สต็อกโฮล์ม ซินโดรม (Stockholm Syndrome)

Stockholm Syndrome (สต็อกโฮล์ม ซินโดรม) เป็นอาการของคนที่ตกเป็นเชลยหรือตัวประกันเกิดมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนที่เป็นคนร้ายหลังจากต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันระยะหนึ่ง และอาจจะลงเอยด้วยการแสดงอาการปกป้องคนร้ายหรือยอมเป็นพวกเดียวกันด้วยซ้ำ อาการที่ว่านี้นักจิตวิทยาตั้งขึ้นตามคดีปล้นธนาคารที่เกิดขึ้นในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนในปี ค.ศ. 1973  คนร้ายยึดธนาคารเป็นเวลา 6 วัน  ก่อนที่จะถูกตำรวจจับ หลังจากที่ตัวประกันถูกปล่อยตัว   เจ้าหน้าที่และลูกค้าธนาคารซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันเริ่มเห็นใจโจร   เมื่อตำรวจบุกเข้าไปตัวประกันพยายามปกป้องโจรด้วยซ้ำ   (เหตุการณ์ปล้นครั้งนั้นกลายเป็นพล็อตหนังเรื่อง “ปล้นกลางแดด” หรือ Dog Days Afternoon  ที่มีอัลปา ชีโน่เป็นดารานำ) บางคนปฏิเสธที่จะให้การกับศาล บางคนถึงกับเรี่ยรายเงินเพื่อนำไปช่วยคนร้ายในระหว่างการดำเนินคดี จึงเป็นที่มาของคำว่า “Stockholm syndrome” ภาพยนตร์ที่นำ Stochkolm syndrome ไปเป็นพล็อตเรื่อง เช่น Highway (India) จำเลยรัก (ไทย)

อาการของ Stockholm syndrome หลักๆคือ

          -มีความรู้สึกที่ดีกับคนร้าย

          -มีความรู้สึกต่อต้านต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่า เป็นพฤติกรรมที่ทางธรรม เรียกว่า เห็นผิดเป็นชอบ   เกิดจากความใจอ่อน สงสารสัตว์โลกผู้ชะตาตกต่ำ ประกอบกับ ได้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ก่อการร้ายเป็นระยะเวลานาน กินข้าวหม้อเดียวกัน – นอนเตียงเดียวกัน มิได้ถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือ พูดจาประชด ถากถาง แม้แต่น้อย  จึงเกิดความสงสาร เห็นใจ หันมาเข้าข้างเค้าซะเลย
          กลุ่มอาการ Stockholm syndrome เป็นคำอธิบายถึงอาการอย่างหนึ่งที่ตัวประกันเกิดความสัมพันธ์ทางใจกับผู้ลักพาตัวในระหว่างการถูกกักขัง ความสัมพันธ์ทางอารมณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างผู้จับกับเชลยในช่วงเวลาที่ได้ใกล้ชิดกัน แต่นี่อาจถือได้ว่าไม่มีสัญญาณด้านอันตรายหรือเกิดความเสี่ยงอันตรายต่อเหยื่อ กลุ่มอาการสต็อกโฮล์มไม่อยู่ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต เนื่องจากขาดการวิจัยเชิงวิชาการ กลุ่มอาการนี่พบเห็นได้ยาก จากข้อมูลของระบบฐานข้อมูลการจับตัวประกัน ของสำนักงานสอบสวนกลาง และ Law Enforcement Bulletin ประเมินว่าพบการลักพาตัวประเภทนี้น้อยกว่า 5%

          คำนี้มีการใช้ครั้งแรกโดยสื่อมวลชนในปี ค.ศ.1973 เมื่อมีการจับตัวประกัน 4 คนระหว่างการปล้นธนาคาร ที่สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ตัวประกันได้ปกป้องผู้จับตัวพวกเขาหลังถูกปล่อยตัวและยังไม่ยอมเป็นพยานต่อศาลด้วย 

สี่องค์ประกอบสำคัญที่แสดงคุณลักษณะของกลุ่มอาการสต็อกโฮล์ม คือ

  • ตัวประกันมีความรู้สึกที่ดีต่อผู้จับตัว
  • ไม่มีความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ระหว่างตัวประกันและผู้จับตัว
  • ตัวประกันไม่ให้ความช่วยเหลือต่อตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐบาล (เว้นแต่ผู้จับตัวจะถูกตำรวจบังคับ)
  • ตัวประกันเห็นถึงมนุษยธรรมในผู้จับตัว เพราะพวกเขาไม่ได้ถูกคุกคาม เพียงอยู่ในฐานะเป็นผู้บุกรุก

มีความพยายามจะอธิบายสาเหตุของ Stockholm syndrome เช่น

          -เป็นสำนึกผูกพันที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งถูกกดขี่โดยชนชั้นที่มีอำนาจ บ้างถูกจับ ทำร้าย ถึงแกชีวิตก็มี

          -ผู้ถูกควบคุมตัวมักมีความเชื่อว่าจะถูกทำร้าย ไม่ทางหนึ่งทางใด เมื่อผู้ถูกควบคุมตัวไม่ถูกทำร้าย และบางทีได้รับการปฏิบัติที่ดีจากคนร้าย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี เห็นอกเห็นใจต่อคนร้าย

หากเริ่มมีความสงสัยว่าตนเองมีอาการ Stockholm syndrome และต้องการหลุดพ้นจากความรู้สึกดังกล่าว สามารถทำได้โดยวิธีต่อไปนี้

          -มีสติ ทำความเข้าใจกับวงจรที่ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว

          -สร้างกำแพงความรู้สึก หรือรักษาระยะห่างจากคนร้าย

          -ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

อ่านเพิ่มเติม:    1.Bay Area CBT Center, https://bayareacbtcenter.com/overcoming-stockholm-syndrome-with-san-francisco-therapists/

              2.Taylor & Francis, an informa business, https://taylorandfrancis.com/knowledge/Medicine_and_healthcare/Psychiatry/Stockholm_Syndrome/

              3.Viphavadt Hospital, https://www.vibhavadi.com/th/search?q=stockholm+syndrome

              4.Study.com, https://study.com/learn/lesson/stockholm-syndrome-symptoms-treatment-example.html

โพสท์ใน ทั่วไป | 1 ความเห็น

เตรียมตัวสำหรับกรณีวิกฤต

สถานการณ์ปัจจุบันในโลก มีวิกฤตการณ์เกิดถี่ขึ้น ทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติ และจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เชื่อว่าวิกฤตการณ์เหล่านี้ใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก ประชากรของโลกส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมวิกฤตการณ์นี้ได้ จึงน่าที่จะมีการเตรียมตัวรับมือกับวิกฤตการณ์ ถึงจะไม่สามารถทำให้ไม่เกิดขึ้นได้ แต่การเตรียมตัวล่วงหน้าจะทำให้ผ่อนหนักเป็นเบา รัฐบาลของประเทศสวีเดนได้ประกาศเตือนให้ประชาชนในประเทศมีการเตรียมพร้อมรับวิกฤตการณ์ โดยเผยแพร่คู่มือซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเวปไซท์ https://rib.msb.se/filer/pdf/30874.pdf โดยไม่มีค่าใช้จ่าย บางส่วนชองคู่มือน่าจะเป็นประโยชน์กับประชากรทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่ประเทศใด โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมภายในบ้าน จึงนำมาแบ่งปันกัน ควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อการดำรงชีพของคนในครอบครัวให้เพียงพออย่างน้อยสำหรับ 1 สัปดาห์ และอาจเตรียมเพิ่มอีกสำหรับกรณีที่เพื่อนบ้านมาขอความช่วยเหลือ

1.น้ำ – ควรเตรียมอย่างน้อย 3 ลิตรต่อคนต่อวัน เพื่อดื่มและประกอบอาหาร

2.อุปกรณ์ให้ความอบอุ่น – ผ้าห่ม ถุงนอน เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับประเทศในเขตหนาว แต่ประเทศในเขตร้อนอาจไม่จำเป็นมากนัก

3.อุปกรณ์สื่อสาร – วิทยุ โทรศัพท์มือถือ และอาจต้องเตรียมอุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่แบบมือหมุนไว้ด้วย เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ไม่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ด้วยวิธีปรกติได้

4.อาหาร – ควรเป็นอาหารที่เก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้อง เพราะอาจจะไม่มีไฟฟ้าให้ตู้เย็นทำงานได้ อาหารควรเป็นชนิดที่เก็บไว้ได้เป็นเวลานาน นำมาปรุงได้ง่าย หรือพร้อมทานได้เลย

5.เงิน – ควรเตรียมเงินสดให้พอใช้จ่ายได้ 1 สัปดาห์ และอาจเก็บบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตไว้ใกล้ตัว

6.ส้วม – มีความสำคัญและจำเป็นมาก จึงควรต้องมีการเตรียมพร้อม ปัสสาวะยังคงทำได้ในส้วมปรกติ แม้จะไม่มีน้ำราด แต่ควรแยกอุจจาระและกระดาษชำระใช้แล้วไว้ในถุงพลาสติก ดังนั้นจึงควรเตรียมถุงขยะ ถุงพลาสติก กระดาษชำระทั้งแบบเปียกและแบบแห้ง ถ้าเป็นไปได้ อาจเตรียมขี้เลื่อย ผงถ่านไว้บ้าง เพื่อใช้ดับกลิ่น

7.อุปกรณ์อื่นๆ – เตาใช้ในการเดินทาง แก๊ซหัวพ่น น้ำมัน ยาสามัญประจำบ้าน อุปกรณ์ทำแผล ไม้ขีดไฟ ตะเกียง ไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย อุปกรณ์เปิดกระป๋อง อุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่แบบมือหมุน

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน เตรียมตัวสำหรับกรณีวิกฤต

ประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ III

สถานการณ์โลกในปัจจุบันที่ตึงเครียดมาก ทำให้หลายคนเริ่มกังวลใจว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ซึ่งคงไม่มีใครบอกได้ พวกเราคงได้แต่ภาวนาขออย่าได้เกิดขึ้นเลย หลายคนเริ่มมองหาประเทศที่ปลอดภัยจากภัยสงคราม บนเวปต์ไซท์ TIMESTRAVEL (https://timesofindia.indiatimes.com/travel/destinations/10-safest-countries-to-live-in-if-world-war-iii-happens/photostory/107912785.cms) แนะนำประเทศที่คาดว่าจะปลอดภัยและน่าอยู่อาศัยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 3 (ถ้าเกิดขึ้นจริง) 10 ประเทศ ดังนี้:

1 Antractica แอนตาร์ติกา (Antarctica) แม้ว่าจะไม่เป็นประเทศ บริเวณขั้วโลกใต้ที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งและห่างไกลจากความเจริญในเมืองใหญ่ น่าจะไม่เป็นที่สนใจของประเทศคู่สงครามใดๆk

2 Fiji ประเทศ Fiji เป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งสงบและไม่ถูกรบกวนด้วยอิทธิพลการเมืองมากนัก

3 Iceland ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำจืดและพลังงานหมุนเวียน จึงสามารถพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี

4 Greenland กรีนแลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเดนมาร์ก แต่เป็นดินแดนปกครองตนเอง ที่อยู่ห่างออกไปจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้มีโอกาสรอดพ้นจากการโจมตีในระหว่างสงคราม

5New Zealand แม้ว่าประเทศนิวซีแลนด์จะมีการพัฒนาอย่างมาก แต่อยู่ไกลออกไปทางขั้วโลกใต้

6 Bhutan ภูเขาที่ล้อมรอบประเทศภูถานเป็นเสมือนเกราะป้องกันอันตรายจากการโจมตีจากประเทศอื่นได้เป็นอย่างดี

7Ireland ประเทศไอร์แลนด์มีความอิสระในด้านนโยบายต่างประเทศ ไม่ขึ้นกับประเทศอังกฤษ

8 Switzerland เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศสวิสเซอร์แลนด์ไม่มีเขตแดนติดทะเล และล้อมรอบด้วยภูเขา มีนโยบายเป็นกลางทางการเมือง

9 Indonesia อินโดนีเซียมีความพยายามวางตัวเป็นกลางทางการเมืองและมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะแยกจากประเทศอื่นๆ

10 Tuvalu ทูวาลูเป็นประเทศเล็ก ประชากรน้อย อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากประเทศอื่นๆ

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน ประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ III

ยืมเงินมาเรียน

เป็นที่น่าสนใจว่าในจำนวนผู้กู้ยืมเงินกองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 6,868,103 ราย มีผู้ชำระหนี้เสร็จสิ้นเพียง 1,915,701 ราย หรือ 28% ของผู้กู้ยืม (สถิติข้อมูล กยศ. วันที่ 31 กรกฎาคม 2567, https://www.studentloan.or.th/th/statistics/1540900492) ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการชำระหนี้ อยู่ในช่วงปลอดหนี้ และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ

นอกจากสถิติของผู้กู้ยืมแล้ว กยศ.ยังคงให้การกู้ยืมอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดบนเวปไซด์ของ กยศ. ( https://www.studentloan.or.th/th/news/1705998214) มีความเห็นเกี่ยวกับการล้างหนี้ให้ผู้กู้ยืมหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังจะเห็นได้ว่าสกู้ปข่าว “ถอดบทเรียนนโยบายล้างหนี้ กยศ. ของสหรัฐอเมริกา” (https://www.youtube.com/watch?v=BlLPLRkz5Yg)

                ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้กู้ยืมไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามที่กำหนด น่าจะเป็นเรื่องของสภาพการทำงาน และรายได้ หลังจากจบการศึกษา จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปีการศึกษา 2566 ผู้สำเร็จการศึกษาทั้งประเทศ ทำงานแล้ว 81.19%

                TITLEMAX เปรียบเทียบกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการเรียนกับรายได้เฉลี่ยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแยกตามกลุ่มอาชีพ ตามรูปด้านล่าง ด้านซ้าย(สีเขียว)เป็นรายได้เฉลี่ยต่อปี ด้านขวา(สีแดง)เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา (Education cost) ในกลุ่มให้บริการทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 190,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับรายได้ต่ำสุดต่อปีในกลุ่มนี้ 111,440 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็น 1.7 เท่าของรายได้ต่อปี ในกลุ่มผู้จัดการหรือให้คำปรึกษาด้านการเงิน สถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ค่าใช้จ่ายการศึกษาโดยประมาณ 106,372 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับรายได้ต่ำสุดต่อปีในกลุ่มนี้ 91,420 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็น 1.16 เท่าของรายได้ต่อปี ในกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ค่าใช้จ่ายการศึกษาโดยประมาณ 145,509 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับรายได้ต่ำสุดต่อปีในกลุ่มนี้ 79,160 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็น 1.84 เท่าของรายได้ต่อปี ส่วนใหญ่ผู้ที่ศึกษาในอาชีพหลักๆนี้ จะเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ที่จะได้รับในหนึ่งปี

ที่มา: TITLEMAX,https://www.titlemax.com/discovery-center/salaries-vs-education-costs-of-50-common-u-s-jobs/

                ตัวเลขเหล่านี้อาจจะนำมาเปรียบเทียบกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อรายได้เฉลี่ยต่อปีในประเทศไทย ซึ่งน่าจะบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้เงินยืมจาก กยศ.ได้ แม้ว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อรายได้เฉลี่ยต่อปีในประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่สูงมาก ยังมีนักการเมืองนำไปเป็นประเด็นหาเสียง ว่าจะยกภาระหนี้ให้ หรือลดภาระหนี้บางส่วนให้ เพื่อเอาใจผู้ลงคะแนนเสียงตามวิถีแห่งประชานิยมอันเป็นปรกติทั่วโลก

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน ยืมเงินมาเรียน

ดัชนีความสุข

ในรายงาน World Happiness Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Gallup World Poll (https://happiness-report.s3.amazonaws.com/2024/WHR+24.pdf) ทำการรวบรวมข้อมูลและสำรวจด้วยแบบสอบถาม Cantril ladder ให้ผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศต่างๆประเมินระดับความสุขของตนเอง ตัวแปรหลักในการพิจารณา คือ รายได้ประชาชาติ (GDP) ต่อบุคคล สวัสดิการทางสังคม สุขภาพ อิสรภาพ ความโอบอ้อมอารี และคอร์รัปชั่น แล้วนำค่าเฉลี่ยของแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน แบบสอบถาม Cantril Ladder เป็นแบบสอบถามที่มักใช้กับการสำรวจความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต โดยมีตัวเลือกหลายตัวเลือกในลักษณะขั้นบันได ขั้นล่างสุดแสดงถึงความพอใจน้อยที่สุด ขั้นบนสุดแสดงถึงความพอใจสูงสุด (ที่มา: Scientific report, https://www.nature.com/articles/s41598-024-52939-y) แหล่งที่มาของข้อมูลและคำถามหลักๆในแบบสอบถาม มีดังนี้

1-รายได้ประชาชาติต่อคนเป็นข้อมูลที่ได้จาก World Bank

2-ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้จาก World Health Organization (WHO)

3-สวัสดิการสังคมได้จากคำตอบจากแบบสอบถาม ด้วยคำถามว่า “ถ้าท่านประสบเหตุร้ายหรือตกอยู่ในสถานะการณ์ที่ลำบาก ท่านมีเพื่อนหรือญาติที่พร้อมให้ความช่วยเหลือหรือไม่” คำตอบที่ต้องการคือ “มี” หรือ “ไม่มี”

4-คำถามเกี่ยวกับความพอใจ: “ท่านพอใจหรือไม่พอใจที่มีอิสระในการเลือกวิถีทางดำเนินชีวิต”

5-คำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในสังคม: “ที่ผ่านมา ท่านบริจาคเงินเพื่อการกุศลหรือไม่”

6-คำถามเกี่ยวกับทุจริตในสังคม: “ท่านมีความเห็นว่า มีการทุจริตอย่างกว้างขวางในรัฐบาลหรือไม่” และ “ท่านมีความเห็นว่า มีการทุจริตอย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจหรือไม่”

7-ปัจจัยบวกวัดด้วยความรู้สึกโดยเฉลี่ยที่ผ่านมา ที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่ทำให้หัวเราะได้ รู้สึกสนุกสนาน ทำในสิ่งที่สนใจ

8-ปัจจัยลบวัดด้วยความรู้สึกโดยเฉลี่ยที่ผ่านมา ที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่ทำให้กังวล เศร้าเสียใจ หรือ ทำให้โกรธ ไม่พอใจ

ค่าเฉลี่ยของข้อมูลที่ได้จากผู้ตอบแบบสอบถามในแต่ละประเทศแสดงในรูปข้างล่างนี้

ที่มา: World Happiness Report 2024, https://happiness-report.s3.amazonaws.com/2024/WHR+24.pdf

ประชาชนของประเทศฟินแลนด์มีความพอใจในคุณภาพชีวิตของพวกเขามากที่สุดในโลก ประชาชนในประเทศเดนมาร์ค ไอซ์แลนด์ สวีเดน มีความพอใจในคุณภาพชีวิตของพวกเขารองลงมา ประชาชนในประเทศไทยมีความพอใจในคุณภาพชีวิตของพวกเขาเป็นอันดับที่ 58 ตามมาด้วยประเทศมาเลเซีย และประเทศจีน ด้านล่างของตารางเป็นประเทศเซียร่าลีโอน เลโซโธ เลบานอน และแอฟกานิสถาน

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน ดัชนีความสุข

มุ่งสู่ Thailand Zero Dropout

เป็นที่น่ายินดีที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้ความสนใจกับการศึกษาของชาติ แต่ก็น่าแปลกใจที่ทำไมจึงไม่เป็นข่าวจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อาจเป็นการส่งผ่านข้อมูลจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไปยังนายกรัฐมนตรี ตามข่าวจากเวปไซท์ของรัฐบาลไทยด้านล่าง

“…นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ห่วงใยอนาคตของเยาวชนไทยที่เสี่ยงจะหลุดนอกระบบการศึกษา จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการฐานข้อมูล ค้นหาช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี กว่า 1.02 ล้านคน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา…”

ที่มา: รัฐบาลไทย (https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/85370)

                จากรายละเอียดเพิ่มเติมในเวปไซท์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับปีการศึกษา 2566 ได้แก่

                -มีนักเรียนยากจน 1.8 ล้านคนที่ยากจนและมีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา

                -ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ครอบครัวเด็กยากจนต้องแบกรับ สูงถึง 22% ของรายได้ ซึ่งสูงกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย

                -จำนวนนักเรียน 1 ล้านคนมาจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนของ สศช.ที่ 2,803 บาท ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากรัฐบาล

                -ในจำนวนประชากรวัยแรงงานทั้งหมด 20 ล้านคน มีถึง 14.5 ล้านคน หรือ 74% จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า และตกอยู่ในวงจรความยากจน

                -มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ (ต่ำกว่าค่าสถิติของทั้งประเทศมากกว่า 3 เท่า)

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา https://www.eef.or.th/infographic-452234/

                ที่ผ่านมาจำนวนนักเรียนระดับประถมศึกษา มีเพียงราว 66% ของจำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 6-11 ปี และจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษา มีราว 71% ของจำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 12-14 ปี ซึ่งหมายถึงมีเด็กอายุระหว่าง 6-11 ปี ราว 34% ไม่ได้กำลังเรียนอยู่ และเด็กอายุระหว่าง 12-14 ปี ราว 29% ไม่ได้กำลังเรียนอยู่

ที่มา: สำนักนโยบายและแผนการศึกษาพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน

(http://www.bopp.go.th/?page_id=1828)

                สถิติข้างต้นน่าสนใจมากเพราะตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดต้องเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก ตามข้อความอ้างอิงข้างล่างนี้

“……ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปีโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจน อายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไป ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การศึกษาภาคบังคับนั้นต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่บังคับให้ประชาชนต้องเข้าเรียน แต่เป็นสิทธิ์ของคนไทย ส่วนการศึกษาภาคบังคับเป็นการบังคับให้เข้าเรียนถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองตาม มาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ…..” (การศึกษาไทย, https://www.bic.moe.go.th/images/stories/pdf/thailand-education-system.pdf)

                ดูเหมือนสถิติเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด เป็นที่รับทราบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครจะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน มุ่งสู่ Thailand Zero Dropout

ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดทุจริตระดับชาติ

องค์กรนานาชาติ Global Infrastructure Anti-Corruption Centre (https://giaccentre.org/why-corruption-occurs/) ได้ระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุจริตระดับชาติไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1.ทุจริตในรัฐบาล (Corruption in government) ทุจริตที่เกิดขึ้นในทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนามักจะเป็นการทุจริตในระดับโครงสร้าง เช่น การหาผลประโยชน์จากโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่อไม่ต้องรับโทษจากการกระทำที่ผ่านมา การทุจริตระดับนี้จะส่งเสริมการทุจริตครั้งต่อๆไปในอนาคต เพราะความมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองจากองค์กรหลักภายในประเทศ หรือรับโทษเพียงเล็กน้อย

2.นโยบายต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลไม่มีความต่อเนื่อง (Lack of consistent anti-corruption policy within government)  รัฐบาลที่ไม่เข้มงวดหรือกวดขันให้มีการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านทุจริตอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง มีส่วนทำให้มาตรการต่อต้านทุจริตไม่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีที่บางหน่วยงานของรัฐที่จงใจละเลยมาตรการต่อต้านทุจริตเพราะเกรงว่าจะทำให้ผลงานของหน่วยงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มาตรการต่อต้านทุจริตที่กำหนดไว้ก็จะไม่มีความหมาย ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญกับมาตรการต่อต้านทุจริตโดยไม่มีข้อยกเว้น

3.ขาดการรายงานเรื่องทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ (Insufficient reporting of corruption) ถ้าไม่มีการรายงานเรื่องทุจริตอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา จะทำให้ผู้ทำผิดไม่เกรงกลัวว่าจะถือจับได้ สาเหตุหลักที่ทำให้ไม่มีการรายงานทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ

  • ขาดความตระหนักถึงความสำคัญ (Lack of awareness) การที่ไม่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจบางอย่าง อาจทำให้รู้ไม่เท่าทัน มองไม่เห็นช่องทางหรือโอกาสที่จะเกิดทุจริต จึงไม่มีการรายงาน
  • ขาดการวางแผนและกำหนดโครงสร้างของรายงานอย่างชัดเจน (Inadequate or non-existent reporting structures) ควรต้องมีการกำหนดโครงสร้าง วิธึการรายงานที่รัดกุมเพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้รายงานว่าจะไม่เกิดอันตรายหลังจากรายงานไปแล้ว
  • ความเชื่อว่ารายงานเรื่องทุจริตที่พบเห็นก็ไม่มีอะไรดีขึ้น (Belief that nothing will happen if they report) อาจเป็นเพราะประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่ถูกรายงานว่าทุจริตก็ไม่ได้ถูกลงโทษอย่างสาสม ทำให้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่ารายงานเรื่องทุจริตที่พบเห็นก็ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยที่จะรายงานทุจริตที่พบเห็น
  • กลัวว่าจะถูกตอบโต้ ล้างแค้น (Fear of retaliation) ความกลัวที่จะถูกตอบโต้ ล้างแค้น ทำให้หลายคนไม่อยากมีส่วนร่วมในการรายงานทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ทุจริตเป็นผู้มีอิทธิพล หรือเป็นข้าราชการระดับสูง
  • กลัวผลที่จะตามมา (Fear of consequences) ที่ต้องเข้าไปพัวพัน อาจจะเป็นกระบวนสอบสวน การที่ต้องเป็นพยาน หรือแม้แต่ถูกฟ้องกลับในฐานะให้การเท็จ

4.ขาดมาตรการลงโทษที่รุนแรงและสาสมกับความผิด (Insufficient prosecution of corruption) ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาที่ไม่มีการลงโทษผู้ทุจริตอย่างรุนแรง และจริงจัง จะทำให้ผู้ที่มีโอกาสจะทุจริตไม่เกรงกลัวและจะทำการทุจริต ก็เหมือนกับส่งเสริมให้มีการทุจริต อีกทั้งการเลือกลงโทษเฉพาะผู้ทุจริตระดับล่างและละเลยที่จะลงโทษผู้ทุจริตที่มีหน้าที่การงานระดับสูง อาจเป็นเพราะความเกรงใจหรือเกรงกลัวอิทธิพล จะทำให้มาตรการป้องกันการทุจริตไม่ได้ผล

5.เปิดโอกาสให้พนักงานทุจริต (The vulnerability of project owners’ employees to corruption) โครงการใหญ่ๆที่เป็นของรัฐ และอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าของหน่วยงานของรัฐ มีโอกาสที่จะเกิดทุจริตได้ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น

  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการไม่มีแรงจูงใจที่จะรักษาผลประโยชน์ให้กับรัฐ
  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการขาดความน่าเชื่อถือ และศักยภาพที่จะควบคุมโครงการ และมักจะละเลยความเสียหายบางอย่าง เพราะเห็นว่าเป็นความสูญเสียเล็กน้อย จึงทำให้งานไม่มีคุณภาพ
  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการขาดความเป็นอิสระในการควบคุมและบริหารโครงการ
  • ในบางประเทศเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการมีรายได้ประจำน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงเป็นสาเหตุให้ทุจริตเพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว

6. เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต (The vulnerability of other government employees to corruption) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต เช่น วีซ่า นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และใบอนุญาตทางธุรกิจอื่นๆ มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ประกอบการได้ง่ายๆ ด้วยการใช้เวลาในการออกใบอนุญาตนานมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงมักเสนอผลประโยชน์พิเศษให้เพื่อเร่งรัดขั้นตอน และเวลาที่ใช้ในการออกใบอนุญาต

7. ขาดการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับรู้ (Lack of publicly available data on corruption convictions) การประชาสัมพันธ์ของรัฐให้สาธารณชนรับรู้ความจริงเกี่ยวกับการทุจริตเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ที่ถูกลงโทษจากการทุจริตพยายามบิดเบือนความจริง โดยให้ข่าวที่ไม่เป็นจริง หรือให้ข่าวเป็นบางส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ผิดกับสาธารณชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องให้ข่าวที่ถูกต้องผ่านสื่อที่ทันสมัย สร้างการรับรู้ความเป็นจริง เป็นการลบอคติที่มีกับภาครัฐ และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการกำจัดและปราบปรามทุจริต 8.ขาดข้อมูลที่สาธารณชนสามารถเปรียบเทียบได้ (Lack of sufficient data regarding comparative costing of infrastructure projects, materials, and methods) การให้ข้อมูลแก่สาธารณชนเพื่อนำไปเปรียบเทียบ เป็นการชี้แจงและเปิดโอกาสให้สาธารณชนเปรียบเทียบด้วยตนเอง และค้นหาสิ่งผิดปรกติซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริต

โพสท์ใน ทั่วไป | ติดป้ายกำกับ | ปิดความเห็น บน ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดทุจริตระดับชาติ

ระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในเยอรมนี

ระบบดูแลผู้สูงอายุในประเทศเยอรมนีที่เรียกกันว่า Long-Term Care Insurance (LTCI) เป็นโปรแกรมที่เป็นหลักประกันให้ผู้สูงอายุสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยหรือพิการ ซึ่งจำแนกเป็น 3 ลักษณะ คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล (care allowance) ค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาล (Home care) และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่บ้าน (residential care) โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสุขภาพในขณะนั้น แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 ความจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลพอประมาณ (วันละหนึ่งครั้ง ครั้งละประมาณ 90 นาที)

ระดับที่ 2 สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลปานกลาง (วันละ 3 ครั้ง รวมประมาณ 180 นาทีต่อวัน)

ระดับที่ 3 การดูแลแบบใกล้ชิดอย่างมาก (ตลอดเวลา หรือ ประมาณ 300 นาทีต่อวัน)

ต่อมาในปี ค.ศ. 2015 มีการเปลี่ยนแปลงในระเบียบการกำหนดระดับความต้องการดูแล (Need of care) ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติในปี ค.ศ. 2017 โดยพิจารณาจากปัจจัย 5 อย่างเพื่อกำหนดความต้องการการดูแลที่มีผลจากทางกายภาพและจิตภาพ และให้น้ำหนักเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้ (Backer, June 2016)

1. ความบกพร่องในการเคลื่อนไหว (10%)

2. ความบกพร่องในการสื่อสารและความจำ (15%)

3. ความบกพร่องทางพฤติกรรมและทางจิต (15%)

4. ความบกพร่องในการพึ่งพาตัวเอง (40%)

5. ข้อจำกัดทางสุขภาพและผลจากการรักษาพยาบาล (20%)

ความต้องการดูแล (Need of care) จะถูกแบ่งเป็น 5 ระดับตามเปอร์เซ็นต์ความบกพร่อง เช่น Grade 1: 12.5 – 27% จนถึง Grade 5: 90 – 100%

ระบบประกันสุขภาพในประเทศเยอรมนีก็ประสบปัญหาเดียวกับประเทศอื่นเช่นกัน ในเรื่องของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในการประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประเทศเยอรมนีได้เริ่มระบบประกันสุขภาพระยะยาว (Long-term care insurance, LTCI) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 โดยมีหลักการ ดังนี้ (Curry, Schlepper, & Hemmings, September 2019)

1.ร่วมกันรับความเสี่ยง (Risk-pooling) การกระจายความเสี่ยงเป็นการช่วยไม่ให้คนหนึ่งคนใดรับความเสี่ยงมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสียหายที่เกินการแบกรับ

2.ความโปร่งใส (Transparency) เงินในกองทุนเป็นเงินสมทบจากรายได้ ซึ่งจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นโดยเด็ดขาด และไม่นำเงินจากแหล่งอื่นมาสมทบ

3.หลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายที่แน่นอน (Consistency of eligibility) หลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอายุ วิธีการ และหลักเกณฑ์การพิจารณาที่แน่นอน

4.ผลประโยชน์ขั้นต่ำที่ชัดเจน (Clarity of benefit) จากเงินสมทบรายเดือนที่ผู้ร่วมกองทุนจะต้องจ่ายที่ชัดเจน แน่นอน

5.ความมั่นคงของผู้ให้หลักประกัน (Stability for providers) ความมั่นคงของผู้ให้หลักประกันสร้างความเชื่อมั่นและความสามารถในการแข่งขัน

6.ความยุติธรรม (Fairness) ผู้เอาประกันที่จ่ายเท่ากัน ต้องได้รับผลประโยชน์เท่ากัน

                บทเรียนจากระบบประกันสุขภาพของเยอรมนี

                1.ความสำเร็จของระบบประกันสุขภาพต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ

                2.ความโปร่งใส ชัดเจน และยุติธรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของสังคม

                3.แบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายระหว่างกองทุนและผู้รับการประกันอย่างชัดเจน โดยกำหนดผลประโยชน์ขั้นต่ำที่กองทุนจะจ่ายให้ ส่วนผู้ร่วมกองทุนต้องรับผิดชอบส่วนเกิน

                4.ต้องมีการแบ่งส่วนและเก็บรักษากองทุนอย่างเคร่งครัด (Ring-fencing)

                5.สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการมีความมั่นคงและยืดหยุ่น

                6.แผนระยะยาวเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ แม้ว่าเปลี่ยนรัฐบาล

                7.การจ่ายผลประโยชน์เป็นเงินสด สามารถทำได้อย่างระมัดระวัง

                8.มีความยืดหยุ่นในการกำหนดวิธีการปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงการบริการอย่างไม่เป็นทางการ (Informal care)

                9.สนับสนุนการให้บริการในชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainable community-based care)

                เป็นที่น่าสังเกตว่าระบบประกันสุขภาพของประเทศเยอรมนีมีการแบ่งความรับผิดชอบ โดยที่กองทุนและผู้รับประกันในระบบรับบางส่วน และให้ผู้เอาประกันรับผิดชอบบางส่วน ทั้งนี้เพื่อรักษาความยั่งยืนของระบบ ระบบในประเทศของเราจึงควรปรับให้มีการแบ่งความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน อีกทั้งต้องป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากภายนอก

เอกสารอ้างอิง:

Backer, G. (June 2016). Reform of the long-term care in Germany. Brussels: European Social Policy Network (ESPN).

Curry, N., Schlepper, L., & Hemmings, N. (September 2019). What can England learn from the long-term care system in Germany? London, UK: nuffieldtrust.

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน ระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในเยอรมนี

องค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัชั่นในประเทศสิงคโปร์ (Corrupt Practices Investigation Bureau, CPIB)

หลายคนคงมีคำถามในใจว่าประเทศสิงคโปร์มีอะไรที่ทำให้เป็นประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดประเทศหนึ่ง Transparency International ได้จัดให้ประเทศสิงคโปร์มีความโปร่งใสเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ประเทศสิงคโปร์มีการจัดตั้งองค์กรชื่อว่า Corrupt Practices Investigation Bureau (CPIB) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 CPIB เป็นองค์กรอิสระขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่หลักคือการสืบสวนและป้องกันการคอร์รัปชั่นกับทุกองค์กรในสิงคโปร์ และแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งเบาะแสของคอร์รัปชั่นมาที่ CPIB ได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี มีทั้ง

  1. เขียนจดหมายถึงสำนักงานของ CPIB
  2. โทรศัพท์แจ้งโดยตรง
  3. ส่งผ่าน e-complaint
  4. ส่งทาง e-mail ถึง report@cpib.gov.sg
  5. ส่งแฟกซ์

ผู้แจ้งเบาะแสมีสิทธิที่จะไม่เปิดเผยตัวตนต่อ CPIB หรือแม้แต่จะเปิดเผยกับ CPIB ก็จะได้รับการปกปิดเป็นความลับ ยกเว้นแต่ศาลให้เปิดเผย ในกรณีที่เป็นการแจ้งเท็จ

องค์กร CPIB แบ่งเป็น 3 หน่วยงานหลัก คือ 1. ฝ่ายสืบสวน (Investigations Department) ซึ่งรับผิดชอบในอำนาจน้าที่หลักขององค์กร 2. ฝ่ายสนับสนุนงานสืบสวน (Operations Department) สนับสนุนการดำเนินการขององค์กร วิเคราะห์กรณีต่างๆและประสานงานกับองค์กรอื่นๆในต่างประเทศ 3. ฝ่ายธุรการและดำเนินการ (Corporate Affairs Department) บริหารจัดการบุคลากร การเงิน การวางแผน และอื่นๆ

องค์กร  CPIBได้มีการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆมากมาย คู่มือปฏิบัติเพื่อป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นสำหรับการดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ (PACT: A Practical Anti-Corruption Guide for Businesses in Singapore) เป็นหนึ่งในเอกสารเผยแพร่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก มีข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการทุจริตคอร์รัปชั่น มีกรณีศึกษาให้เป็นตัวอย่าง ได้แก่

1. การเรียกร้องค่าคอมมิสชั่น (A corporation’s corrupt commission)

2. ความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมประเพณีกับคอร์รัปชั่น (Fine line between tradition and corruption)

3. ค่ากาแฟเล็กน้อยคงไม่เป็นไร (A little coffee money “did no harm”)

        การศึกษาเปรียบเทียบองค์กรที่ทำหน้าที่ลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศต่างๆที่ได้รับจากจัดอันดับระดับสูง (มีความโปร่งใสมาก) จาก Transparency International  (การศึกษาเปรียบเทียบองค์กรที่ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รปชั่นในสิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้: ข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย โดย สุริยานนท์ พลสิม, วารสารการเมืองการปกครอง ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2562) ได้เปรียบเทียบรูปแบบองค์กรและแนวทางดำเนินงาน อีกทั้งให้ข้อสนอแนะต่อประเทศไทย ดังนี้

        1.การจัดตั้งเครือข่ายหรือคณะทำงานด้านการป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับท้องถิ่น: ป.ป.ถ. (Local Anti-Corruption: LACC)

        2. การควบรวมหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศไทย (สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ให้เป็นองค์กรเดียว

        3.การออกแบบระบบปฏิบัติงานเชิงรุกด้านการป้องกันคอร์รัปชั่น (Corruption Prevention) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานสืบสวนการทุจริตฯของประทศอื่น                 ข้อเสนอแนะข้างต้นน่าสนใจมากและน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย และถ้ามีข้อเสนอจัดทำมาตรการกำจัดทุจริตภายในองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตฯด้วย ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตฯเหล่านี้ และอาจทำให้อันดับของประเทศไทยบนตารางของ Transparency International สูงขึ้น

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน องค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัชั่นในประเทศสิงคโปร์ (Corrupt Practices Investigation Bureau, CPIB)