ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia

คนที่เคยชื่นชม สนุกกับกิจกรรมบางอย่าง ทั้งในที่ทำงานหรือที่บ้าน ในบ้านหรือนอกบ้าน แต่อยู่ๆก็รู้สึกว่ากิจกรรมเหล่านั้นไม่น่าสนใจอีกต่อไป ภาวะอย่างนี้เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับอาการซึมเคร้า อาการของภาวะสิ้นยินดี มีทั้งอาการทางสังคมและอาการทางร่างกาย อาการทางสังคมมักจะเห็นได้จากความเบื่อหน่ายที่จะร่วมสังสรรค์พูดคุยกับคนรอบข้าง ส่วนอาการทางร่างกายอาจจะไม่ใช่การการไม่รับรู้ รส กลิ่น และเสียง แต่เป็นการไม่รู้สึกชื่นชอบกับ รส กลิ่น และเสียง ที่เคยชอบ เพลงที่ชอบ อาหารที่เคยโปรดอย่างมาก กลับไม่ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆอย่างแต่ก่อน ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) อาจมีอาการคล้ายกับภาวะไม่แยแส (Apathy) แต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน บางคนอาจมีทั้งสองภาวะในเวลาเดียวกัน

                ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) เป็นอาการของโรคหรือความผิดปรกติทางร่างกายและทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) โรคจิต (Schizophrenia) โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar disorder) โรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง (Parkinson’s disease) การบาดเจ็บทางสมอง (Traumatic brain injury) เป็นต้น

ที่มา: Cleveland Clinic (https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/25155-anhedonia)

นอกจากการสังเกตอาการแล้ว แพทย์อาจจะตรวจผลเลือดเพื่อดูปริมาณวิตามินดี (Vitamin D) และสมดุลย์ฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ประกอบด้วย การรักษาและบรรเทาภาวะดังกล่าวอาจทำได้โดย

  • การบำบัดความคิดและพฤติกรม (Cognitive behavioral therapy)
  • รักษาด้วยยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic medications)
  • รักษาด้วยยาต้านอาการภาวะซึมเศร้า (Antidepressant medications และ Selective serotonin reuptake inhibitors)
  • รักษาด้วยยาเคตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (Ketamine)
  • การบำบัดด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy)
  • การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial magnetic stimulation)

ผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีสามารถบำบัดหรือบรรเทาได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการเดินหรือโยคะก็ได้ ในระหว่างการออกกำลังกาย ร่างกายจะขับสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขเพื่อกระตุ้นให้ต้องการกระทำหรือมีพฤติกรรมที่ชื่นชอบ ด้วยความมั่นใจ กระตือรือร้น และท้าทายให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ

ที่มา:       1.รู้จักกับสารแห่งความสุข: โดปามีน/www.okmd.or.th

                2.Ahdonia/Cleveland Clinic (https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/25155-anhedonia)

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia

ดัชนีวัดระดับคอรัปชั่น

องค์กร Transparency International (transparency.org) ได้นิยาม คอรัปชั่น (Corruption) ไว้ว่า เป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งใกล้เคียงกับคำนิยามที่องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) (anticorruption.or.th) ที่ให้ไว้ว่า

คอร์รัปชัน หมายถึง ความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ, ความผิดที่เกี่ยวกับความยุติธรรม และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการบุติธรรม ซึ่งกล่าวง่ายๆ คือ การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรชอบได้ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เช่น 
1. การเบียดบังทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต 
2. ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ 
3. การบอกว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน

องค์กร Transparency International คำนวณ CPI โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ World bank, World economic forum, Private risk and consulting companies และ Think tanks อื่นๆ

ข้อมูลจากแหล่งต่างๆแสดงในช่วงคะแนนต่างกัน จึงต้องนำมาปรับให้อยู่ในช่วงคะแนนเดียวกันระหว่าง 0 ถึง 100 เพื่อสะดวกในการเปรียบเทียบ โดยกำหนดให้ 0 เป็นคะแนนที่แสดงถึงการคอรัปชั่นอย่างมาก ในขณะที่คะแนน 100 แสดงถึงความใสสะอาด

รายงานล่าสุดปี ค.ศ. 2023 พบว่า 5 ประเทศในโลกที่ได้คะแนนสูงสุด (มีความโปร่งใสมาก คอรัปชั่นน้อย) คือ ประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และสิงคโปร์

ประเทศไทยได้คะแนน 35 จาก 100 อยู่ในอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศ ช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้คะแนนระหว่าง 35-38 จาก 100 ซึ่งดูเหมือน พวกเรา (ที่เป็นผู้สูงวัย) ทำได้ไม่ค่อยดี และต้องทิ้งไว้ให้เป็นภาระของรุ่นต่อไป

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน ดัชนีวัดระดับคอรัปชั่น

โรคนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

7 มกราคม 2567

ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ บ้างทราบสาเหตุ บ้างไม่ทราบสาเหตุ การนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความเครียดและเป็นต้นเหตุให้ร่างกายอ่อนแอและเกิดโรคอื่นๆตามมา มีการวินิจฉัยถึงสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ และมีคำแนะนำในการแก้ปัญหามากมายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรวบรวมเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ ดังนี้

“เมื่อผู้สูงอายุนอนไม่หลับ”

โดย ศ.นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อเอ่ยถึงความชรา ท่านผู้อ่านคงนึกถึงคนที่มีผมสีดอกเลา เดินหลังค่อมเล็กน้อย ผิวหนังหยาบกร้านและเหี่ยวย่น แต่นั่นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากภายนอก มีใครบ้างที่คิดว่าความชรายังมีผลกระทบไม่น้อยต่อการเปลี่ยนแปลงในอวัยวะระบบต่างๆ หนึ่งในอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั้นก็คือ สมอง อวัยวะที่มีน้ำหนักราว 1400 กรัม ในศีรษะของเรานั่นเอง

            อาการนอนไม่หลับก็เป็นอาการหนึ่งที่เกิดจากสมองทำงานไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกับอาการหมดสติหรือหลับไม่ยอมตื่น แต่อย่างหลังดูจะทำให้ญาติหรือคนใกล้ชิดตกใจได้มากกว่าและรีบพาไปพบแพทย์ ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับ ญาติมักจะปล่อยปละละเลย บางครั้งผู้ป่วยก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการไปซื้อยานอนหลับมารับประทานเอง ซึ่งยานอนหลับก็เป็นดาบสองคมได้บ่อยๆ ในผู้สูงอายุ จากผลการศึกษาในประชากรผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปที่อยู่ในชุมชน ได้รับความทนทุกข์ทรมานของอาการนอนไม่หลับถึงมากกว่าครึ่ง ยิ่งกว่านั้นอาการนอนไม่หลับอาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่นๆ ทางสมอง ที่สมควรได้รับการตรวจพบและแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งหมดนี้แสดงถึงขนาดของปัญหานอนไม่หลับและความรุนแรงของอาการที่ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาสนใจอย่างจริงจัง

สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

1. เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความชรา
โดยปกติเมื่อมนุษย์เริ่มเข้าสู่วัยชรา สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเหมือนเช่นอวัยวะอื่น โดยลักษณะการนอนของผู้สูงอายุจะมีลักษณะดังต่อไปนี้  
            • ระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลง
            • ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนเพื่อที่จะหลับ
            • ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น ( ตอนที่กำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับสนิท ) จะยาวขึ้น ขณะที่ช่วงระยะที่หลับสนิทจริงๆ จะลดลง
            • จะมีการตื่นขึ้นบ่อยๆ กลางดึก
ดังนั้นผู้สูงอายุแม้จะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ สมวัย ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองนอนน้อยลง หรือคิดไปว่านอนไม่หลับ แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้จะดูเหมือนว่า “ นอนไม่หลับ ” แต่ช่วงกลางวันก็มักจะไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอนแต่อย่างใด

2. เกิดเนื่องจากมีโรคที่เป็นพยาธิสภาพซ่อนอยู่ ได้แก่
            • จากยาที่ผู้สูงอายุกำลังใช้อยู่
               ยาบางประเภทโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ เช่น การใช้ยานอนหลับนานๆ ยารักษาอาการสั่น เคลื่อนไหวช้าในโรค Pakinsonism หรือบางครั้งอาจเป็นส่วนผสมของยารักษาโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทางสมองเช่น alcohol ในพวกยาน้ำแก้ไอ หรือ caffeine ที่ผสมในยารักษาโรคหวัด เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุหยุดการใช้ยาเหล่านี้ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง
            •  โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
                ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ ตอนกลางคืน ก็จะมีผลต่อการนอนด้วย เช่น โรคเบาหวาน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณปัสสาวะมาก โรคต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุชาย โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่การใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือภาวะหัวใจวาย ก็ทำให้มีปัสสาวะตอนกลางคืนได้บ่อย             
            •  ความเจ็บปวด
                ความเจ็บปวดทางกายไม่ว่าจากอวัยวะใด จะมีผลทางอ้อมต่อการนอนหลับในผู้สูงอายุเสมอ ที่พบบ่อยมักเกิดจาก โรคของกระดูกและข้อเสื่อม ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้ เช่น ข้อเข้าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม เป็นต้น นอกจากนั้นอาการเจ็บปวดอาจเกิดจากอวัยวะภายในช่องท้องเช่น ท้องผูก แน่นท้อง อาการไม่ย่อย เป็นต้น
            •  โรคสมองเสื่อมและภาวะจิตผิดปกติ
ิ                ผู้สูงอายุที่เริ่มมีสมองเสื่อมในระยะแรกจะมีอาการนอนไม่หลับได้ เพิ่มจากอาการขี้หลงขี้ลืม หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนสาเหตุของสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทยมักเกิดจากการอุดตันของเส้นโลหิตในสมองที่เกิดซ้ำกันหลายๆ ครั้ง อาจจะมีหรือไม่มีอาการของอัมพาตร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้นภาวะซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการนอนยากในผู้สูงอายุได้ โดยผู้ป่วยมักจะมีลักษณะที่เข้านอนได้ตามปกติ แต่ตื่นขึ้นกลางดึกเช่น ตี 3-4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก
            •  อื่นๆ
                ผู้สูงอายุบางรายเวลานอนหลับสนิท สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการหายใจจะทำงานลดลง ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจได้ชั่วขณะ จากนั้นสมองจะถูกกระตุ้นอีกครั้งอย่างรุนแรงเพื่อให้หายใจ ขณะนั้นผู้ป่วยอาจตื่นขึ้นมาได้ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่องได้ หรือบางรายเวลาหลับสนิท ลิ้นในช่องปากจะตกย้อนไปข้างหลังและอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้ และถ้าอุดกั้นมากขึ้นถึงกับทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าหลอดลมและปอด สมองก็จะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง เพื่อให้ร่างกายพยายามหายใจก็ทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นได้อีกเช่นกัน

            จากสาเหตุของการนอนหลับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วย ประวัติการนอน และตรวจร่างกายจากแพทย์โดยละเอียดเพื่อสืบสาวถึงสาเหตุที่แท้จริงของการนอนไม่หลับในผู้ป่วยแต่ละราย

            ในขั้นต้น ผู้สูงอายุที่เริ่มประสบปัญหาการนอนไม่หลับ มีข้อปฏิบัติบางประการที่อาจช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ ดังนี้
            •  พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
            •  หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ , เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะเวลาเย็น เป็นต้น
            •  ไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยๆ
            •  เพิ่มกิจกรรมหรือการออกกำลังกายในช่วงเวลากลางวันให้มากขึ้น
            •  ถ้าผู้สูงอายุไม่มีอาการง่วงนอนเมื่อถึงเวลาเข้านอน และไม่สามารถนอนหลับได้ ก็ควรลุกขึ้นมาหาอะไรทำดีกว่าที่จะนอนกลิ้งไปมาบนเตียง
            •  กำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่สม่ำเสมอและควรจะเป็นอาหารที่มี protein สูงเมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ
            •  พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบและมืดพอสมควร ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
            •  ฝึกการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ

           โดยสรุป ผู้สูงอายุมักประสบกับปัญหาการนอนไม่หลับได้บ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากความชรา มีผลกระทบต่อความเสื่อมของสมอง ผู้สูงอายุโดยทั่วไปจึงควรทำความเข้าใจกับปัญหาที่เป็น “ ปกติ ” ในผู้สูงอายุและพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น และเมื่ออาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น ผู้สูงอายุก็อาจจำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อค้นหาโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุต่อไป

อ่านเพิ่มเติม … https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_008.html

“2 สาเหตุทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ พร้อมวิธีแก้ไข”

โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ยิ่งอายุมากขึ้นร่างกายของเรายิ่งเสื่อมขึ้นตามวันวัย การทำงานของสมองจึงรวนพร้อมกับไม่เป็นปรกติดั่งเช่นคนหนุ่มสาว ซึ่งสัญญาที่เป็นเครื่องยืนยันว่าหลักเลขได้เข้าสู่โหมดผู้สูงวัยนั้นก็คือ “การนอนไม่หลับ” และมีการตื่นในช่วงกลางดึกบ่อยๆ อันเป็นการอาการเริ่มแรกบ่งบอกของโรคต่างๆ ทางสมอง

สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุนอกจากเกิดจากอายุที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นสมองของคนเราจะเสื่อมไปตามวัยนั้นพบได้ในผู้สูงอายุทุกเพศและแทบทุกคนแม้ว่าผู้สูงอายุจะมีสุขภาพดีก็ตาม สาเหตุที่สำคัญรองลงมาคือมีโรคซ่อนอยู่ ภายในร่างกายแบ่งออกได้คือ

1.ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ทำให้มีผลกระทบในการนอนต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน โรคต่อมหมวกไตหรือไตวายเรื้อรัง โรคเหล่านี้ทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง โรคข้อเสื่อมหรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรังก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดตามร่างกายส่งผลทางอ้อมต่อการนอนหลับ

2.เกิดมาจากยาระบบประสาทหรือสมอง เช่นการใช้ยานอนหลับเป็นระยะเวลานาน การใช้ยาในการรักษาโรคพาร์กินสัน หรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิด อาทิเช่น ยาน้ำแก้ไอที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เจือปนอยู่ เมื่อผู้สูงอายุใช้ยาเหล่านี้จะส่งผลต่อการนอนไม่หลับ ซึ่งหากผู้สูงอายุหยุดกินยาเหล่านี้อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง

วิธีป้องกันและรักษาให้นอนหลับได้มากขึ้น

ควรหลีกเลี่ยงการนอนหลับในเวลากลางวันเป็นระยะเวลานานๆ งดการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

เลือกรับประทานอาหารเย็นให้เป็นเวลาและควรกินอาหารที่มีโปรตีนสูงพร้อมทั้งเพิ่มกิจกรรมหรืออกกำลังกายในช่วงกลางวันให้มากขึ้นและเมื่อถึงเวลานอนแต่ผู้สูงอายุไม่ง่วงควรหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ

ห้องนอนไม่ควรสว่างเกินไปเพราะแสงสว่างจะรบกวนการนอนหลับและฝึกทำสมาธิก่อนนอนเพื่อให้จิตใจสงบจะทำให้นอนหลับได้ลึกและเต็มอิ่ม

ทั้งนี้ทั้งนั้นหมั่นทำให้เป็นตารางและแบบแผนเท่านี้คุณก็จะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสดชื่นผ่องใสเพราะสมองได้รับการพักผ่อนแถมสุขภาพยังแข็งแรงห่างไกลโรคไม่ต่างกับวัยหนุ่มสาวเมื่อคราอดีต…

อ่านเพิ่มเติม … https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27751

“สาเหตุการนอนไม่หลับของผู้สูงวัย”

ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

 

การนอนหลับถือเป็นการพักผ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่จากการสำรวจกลับพบว่าในประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาการนอนไม่หลับสูงถึง 50% มีภาวะการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ 2-10% ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและควรทำความเข้าใจ

การนอนหลับเป็นการพักทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

เพราะระหว่างที่นอนหลับร่างกายจะกลับสู่ภาวะสมดุล เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจและชีพจร รวมถึงฮอร์โมนต่างๆ ที่มีการหลั่งอย่างสม่ำเสมอ ส่วนทางด้านจิตใจพบว่าในขณะนอนหลับ ร่างกายจะมีการรวบรวมข้อมูลในชีวิตประจำวันมาเก็บไว้เป็นความทรงจำ ให้สภาพจิตใจได้ผ่อนคลาย และให้ร่างกายได้แก้ปัญหาต่างๆ ช่วงที่พักจิตใจ

ในกรณีที่ร่างกายนอนหลับไม่เพียงพอ

จะส่งผลกระทบให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ความจำลดลง สมองตื้อ คิดอะไรไม่ค่อยออกหรือคิดได้ช้าลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิต นอกจากนี้ในด้านจิตใจ การนอนไม่หลับยังก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลได้ หรือเป็นปัญหาพื้นฐานในเรื่องของอาการซึมเศร้าได้ด้วย

สาเหตุการนอนไม่หลับโดยทั่วไป มักมาจาก

ปัญหาวิตกกังวล เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต การเปลี่ยนงาน การย้ายงาน และอื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกกังวลใจ ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับได้ นอกจากนี้ในเรื่องของอายุก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งพบว่าในผู้สูงอายุมักมีการนอนไม่หลับสูงกว่าวัยอื่นๆ

สาเหตุการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ ได้แก่

การทำงานของร่างกายที่เสื่อมลง ระดับฮอร์โมนที่ลดง โรคประจำตัวที่รบกวนการนอน และการรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด ทำให้การนอนหลับลึกหรือพักผ่อนร่างกายของผู้สูงอายุมีเปอร์เซ็นน้อยกว่าคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นลักษณะปกติของผู้สูงอายุ แต่ถ้าหากในผู้สูงอายุรายไหนที่มีความวิตกกังวลอาจส่งผลให้การนอนไม่หลับมีอาการที่หนักขึ้นกว่าเดิมได้

ในเรื่องของการตื่นนอนกลางดึกที่ผู้สูงอายุรวมถึงคนส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกเพราะคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วหากมีการตื่นกลางดึกและสามารถนอนหลับต่อได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง และไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนแต่อย่างใด

การรักษาปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

เริ่มต้นให้ดูก่อนว่าผู้ประสบปัญหามีเรื่องใดวิตกกังวลอยู่หรือไม่ หากมีให้จัดการที่เรื่องนั้น เมื่อไม่มีความวิตกกังวลก็จะสามารถนอนหลับได้ในที่สุด สำหรับผู้ที่ไม่มีเรื่องวิตกกังวล อาจมีในเรื่องของโรคประจำตัวที่รบกวนการนอน ซึ่งควรดูแลที่ตัวโรคนั้นๆ

แต่ในผู้สูงอายุบางรายมีความวิตกกังวลในเรื่องของการนอนไม่หลับโดยตรง ส่วนนี้ควรให้ผู้สูงอายุทำจิตใจให้ผ่อนคลายก่อนนอน อาจฟังเพลงในจังหวะเบาๆ หรือสวดมนต์ รวมถึงการทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อความผ่อนคลายแล้วจึงเข้านอน จะช่วยให้หลับสบาย ไม่ควรสั่งหรือบังคับให้ตัวเองนอน เพราะจะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น และส่งผลให้นอนไม่หลับ

นอกจากนี้สิ่งที่ควรทำคือการควบคุมระยะเวลาในการนอน คือการตื่นและการนอนให้ตรงเวลาในทุกๆ วัน จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

สำหรับการใช้ยานอนหลับ

เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษา แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะไม่ค่อยใช้ยาในการรักษา แต่จะรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ก่อน เว้นแต่ในกรณีที่คนไข้มีความต้องการที่จะรักษาโดยเร็วที่สุด แพทย์จึงจะใช้ยาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรมการซื้อยาทานเอง อาจเป็นยาที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาลดน้ำมูกที่ช่วยให้นอนหลับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นวิธีที่ไม่แนะนำเพราะอาจส่งผลข้างเคียงตามมา

วิธีการสังเกตว่าอาการระดับไหนที่ควรพบแพทย์

ให้พิจารณาว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือไม่ หากการนอนไม่หลับนั้นเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิต สักประมาณ 1 สัปดาห์ ควรได้รับการรักษา

อ่านเพิ่มเติม … https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/นอนไม่หลับผู้สูงวัย/

“คู่มือการนอนหลับเพื่อสุขภาพที่ดี”

กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

การนอนหลับเป็นความจําเป็นพื้นฐานที่สําคัญมากในการดํารงชีวิต เช่นเดียวกับ การหายใจ การดื่มน้ำและการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ความสำคัญของการนอน คือ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน ได้ซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย ตลอดทุกช่วงวัยตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน การนอนหลับมีบทบาทสำคัญกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย สมอง และระบบประสาท การเรียนรู้ เก็บความจําและการทํางานของระบบภูมิคุ้มกัน ในวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มีความต้องการเวลานอนหลับที่แตกต่างกัน การอดนอนหรือนอนหลับไม่เพียงพอความผิดปรกติ หรือโรคของการนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย สมอง และจิตใจ ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคสมอง โรคอ้วน โรคซึมเศร้า ภูมิต้านทานต่ำ ติดเชอได้ง่าย และการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและในการทำงาน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม … https://dopah.anamai.moph.go.th/web-upload/8x6b2a6a0c1fbe85a9c274e6419fdd6071/202103/m_magazine/24466/2307/file_download/8eeb5487769814c0a8dc8bea5e0de976.pdf

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน โรคนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

Pfizer ประกาศความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนต้าน COVID-19 ด้วยอัตราสมรรถภาพ 90%

ข่าวจาก VOA Thai รายงานว่า Pfizer ร่วมกับ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศเยอรมนี ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ความสำเร็จของการทดลองวัคซีนชนิดหนึ่งสำหรับต้านไวรัส COVID-19 ซึ่งได้มีการค้นคว้ากันทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2563 บริษัททั้งสองเปิดเผยว่า ได้ประสบความสำเร็จในการวิเคราะห์เบื้องต้นของการทดสอบวัคซีน BNT162b2 Pfizer ได้เริ่มการทดสอบแบบปฏิบัติการคลีนิคระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 กับผู้ร่วมการทดลองจำนวน 43,538 คน ด้วยการให้วัคซีนกับผู้ร่วมการทดลองจำนวนหนึ่ง และให้น้ำเกลือกับผู้ร่วมการทดลองที่เหลือ โดยไม่ให้รู้ว่าคนไหนได้รับวัคซีนคนไหนได้รับน้ำเกลือ มีเพียงคณะกรรมการอิสระที่ควบคุมการทดสอบเท่านั้นที่มีข้อมูล

จากผู้ร่วมการทดลองจำนวน 43,538 คน มีเพียง 94 คนที่มีอาการของผลของไวรัส ซึ่งเท่ากับอัตราสมรรถภาพ 90 % ของผู้ร่วมการทดลองที่ไม่มีอาการของผลของไวรัส จะมีการทดสอบต่อเนี่องไปอีกในลัษณะเดียวกัน จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ได้มีการให้วัคซีนครั้งที่ 2 กับผู้ร่วมการทดลองไปแล้วจำนวน 38,955 คน

สมรรถภาพ และ ประสิทธิภาพ

Pfizer รายงานว่า “อัตราสมรรถภาพ (efficacy rate) ราว 90%” ซึ่งทำให้เป็นที่เข้าใจว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 90%  ในความเป็นจริง สมรรถภาพ (efficacy) และ ประสิทธิภาพ (efficiency) มีความแตกต่างกัน นักภูมิคุ้มกันไวรัสวิทยา Zania Stamataki ของ University of Birmingham ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “สมรรถภาพ (efficacy) คือความสามรถภายใต้สถานะการณ์ที่ควบคุม ส่วน ประสิทธิภาพ (efficiency) คือความสามารถในสภาวะที่เป็นจริง ไม่มีการควบคุม”

วัคซีนปลอดภัยหรือไม่

คณะกรรมการติดตามผลการทดลองรายงานว่า ยังไม่พบผลกระทบต่อความปลอดภัยอย่างร้ายแรงในการทดลองระยะ 3 Pfizer และ BioNTech จะยังคงรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับความปลอดภัยต่อไป Stamataki คาดว่าจะได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 ในเร็วๆนี้ FDA จะทำการวิเคราะห์และเปิดเผยผลการวิเคราะห์ในราวสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นจะยังคงมีการติดตามผลกระทบระยะยาวในผู้ร่วมการทดลองต่อไปอีก 2 ปีหลังจากฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 แม้ว่าจะมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลายแล้วก็ตาม

ผลกระทบต่อสาธารณะชน

นิวยอร์คไทม์รายงานว่า “ผุ้บริหารระดับสูงของ Pfizer กล่าวว่าบริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนได้ราว 30-40 ล้านชุดภายในปี2563 ซึ่งจะใช้ฉีดให้คนได้ 15-20 ล้านคน คนละ 2 ชุด เป็นการให้ภูมิคุ้มกันครั้งแรก และครั้งที่สองเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยที่จะฉีดให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและช่วยเหลือก่อน ซึ่งจะครอบคลุม 42% ของกลุ่มคนดังกล่าวทั่วโลก และ 30% ของกลุ่มคนดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา Pfizer และ BioNTech คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 1,300 ล้านชุดในปี 2564 ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของทั้งโลก แต่ถ้าบริษัทอื่นสามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันได้ ก็จะเพียงพอกับความต้องการของทั้งโลก ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานกว่า 10 แห่งทั่วโลกที่กำลังทำการทดลองอยู่

อย่างไรก็ตามผู้ทรงคุณวุฒิยังคงสนับสนุนให้มีการรักษาระยะห่างในกลุ่มคน (social distancing) และสวมหน้ากากอนามัย (mask) ต่อไปจนกว่าจะสามารถผลิตวัคซีนที่มีประสืทธิภาพอย่างเพียงพอ

[ที่มา: https://www.msn.com/en-us/health/medical/pfizer-s-covid-19-vaccine-has-a-90-percent-efficacy-rate-what-does-that-mean/ar-BB1aSXXE?ocid=msedgntp]

โพสท์ใน สุขภาพ | ปิดความเห็น บน Pfizer ประกาศความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนต้าน COVID-19 ด้วยอัตราสมรรถภาพ 90%

ระบบ CPF ของ ประเทศสิงคโปร์

จาก website www.cpf.gov.sg ซึ่งเป็น website ของรัฐบาล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน Central Provident Fund (CPF) ซึ่งเป็นรากฐานของระบบประกันสังคม (Social security system) ไว้อย่างน่าสนใจ และอาจจะเป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับกองทุนที่เรามีอยู่เพื่อการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในอนาคต

สำหรับพนักงานที่มีเงินเดือน จะมีการหักเงินเก็บส่วนหนึ่งจากเงินเดือน และนายจ้างต้องจ่ายสมทบส่วนหนึ่ง อัตราการหักจากเงินเดือนและเงินสมทบแตกต่างกันขึ้นกับอายุของพนักงานตามตารางข้างลางนี้

เงินที่หักจากรายได้ของพนักงานและเงินสมทบจากนายจ้างจะถูกแบ่งไปเก็บไว้เป็น 4 ส่วนในบัญชีของพนักงาน ได้แก่

  1. Ordinary account (OA)
  2. Special account (SA)
  3. Medisave account (MA)
  4. Retirement account (RA)

ภาพจาก : Central Provident Fund Board (www.cpf.gov.sg)

สัดส่วนการแบ่งไปยังบัญชีต่างๆจะเปลี่ยนแปลงตามช่วงอายุ จากประกาศล่าสุดของรัฐบาลซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2024 ตามตารางข้างล่าง

                การสะสมเงินใน CPF แต่ละเดือนมีกำหนดจำนวนสูงสุดด้วยอัตราเงินเดือน (Wage ceiling) โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Ordinary wage ceiling และ Additional wage ceiling ในปี ค.ศ. 2024 เงินเดือนสูงสุดที่ใช้คำนวณเงินหักเก็บใน Ordinary account หรือ Ordinary wage ceiling เป็น S$6,800 และเมื่อรวมรายได้ที่ใช้คำนวน Additional wage ceiling ต้องไม่เกิน S$102,000 ต่อปี

เมื่อมีความต้องการจะเบิกเงินออมในบัญชี CPF ก็สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

  1. เบิกจากบัญชี Ordinary account สามารถนำไปใช้ซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์
  2. เบิกจากบัญชี Medisave account เพื่อนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ทั้งของตัวเองและคนในครอบครัว นอกจากนี้ยังสามารถนำไปจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับโปรแกรมที่ได้รับความห็นชอบจากรัฐบาล
  3. เบิกจากบัญชี Retirement account เพื่อใช้ในการดำรงชีพเมื่ออายุครบ 55 ปี ซึ่งสามารถเบิกเป็นรายเดือนหรือเป็นงวดเดียวก็ได้

ในกรณีที่ยังมีเงินสะสมในบัญชี CPF หลังจากเสียชีวิต เงินสะสมที่เหลืออยู่จะถูกโอนให้กับทายาทหรือผู้ที่ถูกระบุไว้ ถ้าไม่มีทายาทหรือระบุผู้รับผลประโยชน์ เงินสะสมที่เหลืออยู่จะถูกโอนไปยังกองทุนเพื่อสาธารณะต่อไป

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน ระบบ CPF ของ ประเทศสิงคโปร์

ผู้ดำเนินการบ้านพักผู้สูงอายุ

ผู้ดำเนินการ เป็นผู้จัดการหรือเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลการดำเนินงาน ให้บริการชองพนักงานในบ้านพักผู้สูงอายุ โดยอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในบ้านพักผู้สูงอายุ ควรสำเร็จการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 420 ชั่วโมง ที่จัดโดยกระทรางศึกษาธิการ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาต

พนักงาน เป็นผู้ทำหน้าที่ในการเป็น ผู้ประสานงาน รับการติดต่อ การแจ้งเหตุ หรือการเตือนภัย ฯลฯ ควรสำเร็จการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 420 ชั่วโมง ที่จัดโดยกระทรางศึกษาธิการ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาต

ที่มา: ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถหาได้จากเวปไซท์ชองกรมกิจการผู้สูงอายุ: https://www.dop.go.th/th/know/12/10

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน ผู้ดำเนินการบ้านพักผู้สูงอายุ

เงินบำนาญของรัฐ

เงินบำนาญเป็นผลประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับหลังจากเกษียณอายุการทำงาน บริษัทเอกชนก็จะกำหนดเงินบำนาญให้กับลูกจ้าง หรืออาจจะเสนอเป็นเงินก้อนเดียวเมื่อเกษียณอายุการทำงานก็ได้ รัฐก็มีการกำหนดเงินบำนาญให้กับลูกจ้างของของรัฐ เงินบำนาญมีความสำคัญกับผู้สูงอายุเป็นอย่างมากในการดำรงชีพหลังเกษียณอายุการทำงาน ในปัจจุบันประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยมากขึ้น และขนาดของครอบครัวเล็กลงอย่างมาก ผู้สูงอายุจึงต้องพี่งพาตนเองมากขึ้น เงินบำนาญจึงเป็นที่พึ่งหลักของผู้สูงอายุหลังวัยทำงาน รัฐบาลของแต่ละประเทศมีระบบเงินบำนาญให้พนักงานหลังเกษียณอายุการทำงานแตกต่างกันไป

มีการลำดับระบบเงินบำนาญของรัฐใน 43 ประเทศด้วยข้อมูลล่าสุดในปี 2521 (พ.ศ. 2564) โดย Visual Capitalist พิจารณาจาก 3 มิติ ได้แก่

  • Adequacy (ความเพียงพอ) รายได้พื้นฐานจากระบบเงินบำนาญ
  • Sustainability (ความยั่งยืน) ระยะเวลาที่ดำเนินการของระบบเงินบำนาญ เงินอุดหนุนจากรัฐ และหนี้สาธารณะ
  • Integrity (ความสมบูรณ์) ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องระบบเงินเกษียณ

ที่มา: Visual Capitalist

ประเทศที่มีคะแนนสูง 3 ลำดับแรก คือ Iceland Netherlands และ Denmark ส่วน 3 ลำดับที่มีคะแนนต่ำ คือ Philippines Argentina และ Thailand ประเทศไทยได้คะแนนรวม (Over all) 40.6 และได้คะแนนในหมวด Adequacy เท่ากับ 35.2 ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มประเทศที่ได้รับการพิจารณา ดังที่แสดงในรูป

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน เงินบำนาญของรัฐ

ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา จากกราฟข้างล่าง ราวปี ค.ศ.1800 ประชากรโลกมีประมาณ 1,000 ล้านคน เพิ่มเป็น 2,000 ล้านคนในปี ค.ศ.1930 (อีก 130 ปีต่อมา) เป็น 3,000 ล้านคนในปี ค.ศ.1960 (แค่เพียง 30 ปีต่อมา) และเพิ่มอย่างรวดเร็วต่อจากนั้น ปัจจุบัน ณ เดือนมกราคม 2565 จำนวนประชากรทั้งโลกมีราว 7,900 ล้านคน

แม้ว่าอัตราการเพิ่มประชากรโลกกำลังลดลงอย่างมาก จาก 2.1% ในราวปี ค.ศ. 1968 มาจนเหลือ 1.10-1.05% ในปี ค.ศ. 2020 จำนวนประชากรของโลกก็ยังจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คาดว่าอัตราการเพิ่มของประชากรโลกจะค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 1.10% ในปี ค.ศ. 2020 จนเหลือ 0.53% ในปี ค.ศ. 2050 และจำนวนประชากรจะเพิ่มเป็น 9,735 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2050

                จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงความต้องการทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันความสามารถในการไขว่คว้าทรัพยากรดังกล่าวก็ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

วิธีทดสอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่

การเลือกซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเลือกผิด จะเป็นการสิ้นแปลืองและอาจทำให้เกิดเหตุการณ์น่าขายหน้ากัยผู้ใช้ การเลือกซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่จากรูปลักษณ์ของหีบห่อหรือแผ่นพับโฆษณาอาจจะไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงคุณลักษณะสำคัญของผ้าอ้อมเป็นสำคัญ วิธีตรวจสอบคุณลักษณะสำคัญของผ้าอ้อมซึ่ง XP Medical แนะนำบนหน้าเว็บไซท์ ดังนี้

การวัดขนาดของผ้าอ้อมแห้ง (ก่อนใช้งาน)

1.กางผ้าอ้อมแห้งออกบนพื้นราบ

2.วัดขนาดทั้งส่วนกว้าง ส่วนยาว

               ก.ความกว้างด้านหน้า

               ข.ความกว้างด้านหลัง

               ค.ความกว้างส่วนเว้า

               ง.ความยาวจากขอบหน้าถึงขอบหลัง

การวัดความสามารถในการดูดซับ

1.วางผ้าอ้อมในลักษณะเหมือนใส่บนตัวคน คล้ายรูปตัวยู

2.เทน้ำ 450 cc (16 ออนซ์ น้ำหนัก) ที่อุณหภูมิห้อง ลงตรงกลางผ้าอ้อมอย่างช้าๆ แล้วตรวจดูว่ามีน้ำไหลออกทางด้านข้างหรือไม่

3.ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วเทน้ำ 450 cc (16 ออนซ์ น้ำหนัก) ที่อุณหภูมิห้อง ลงไปอีก และตรวจตรวจดูว่ามีน้ำไหลออกทางด้านข้างหรือไม่ เช่นเดียวกับครั้งแรก

4.ทำอย่างเดียวกับข้างต้นอีก 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง หรือ 1,800 cc (64 ออนซ์ น้ำหนัก)

5.กดทับผ้าอ้อมด้วยวัสดุแผ่นขนาด 8นิ้ว x 12นิ้ว น้ำหนัก 22.7 กิโลกรัม (50 ปอนด์) แล้วตรวจตรวจดูว่ามีน้ำไหลออกทางด้านข้างหรือไม่

6.หลังจากผ่านการทดสอบด้วยการกดทับ เทน้ำอีก 450 cc เป็นครั้งที่ 5 7.วัด “Wicking Distance” (ระยะการซึมของน้ำ)  และ “Thickness at Capacity” (ความหนาจากการดูดน้ำ)

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน วิธีทดสอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่

Hello world!

This website intends to provide useful information for those who are concious about their health.

โพสท์ใน ทั่วไป | ปิดความเห็น บน Hello world!