Posted on

องค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัชั่นในประเทศสิงคโปร์ (Corrupt Practices Investigation Bureau, CPIB)

หลายคนคงมีคำถามในใจว่าประเทศสิงคโปร์มีอะไรที่ทำให้เป็นประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดประเทศหนึ่ง Transparency International ได้จัดให้ประเทศสิงคโปร์มีความโปร่งใสเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ประเทศสิงคโปร์มีการจัดตั้งองค์กรชื่อว่า Corrupt Practices Investigation Bureau (CPIB) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 CPIB เป็นองค์กรอิสระขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่หลักคือการสืบสวนและป้องกันการคอร์รัปชั่นกับทุกองค์กรในสิงคโปร์ และแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งเบาะแสของคอร์รัปชั่นมาที่ CPIB ได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี มีทั้ง

  1. เขียนจดหมายถึงสำนักงานของ CPIB
  2. โทรศัพท์แจ้งโดยตรง
  3. ส่งผ่าน e-complaint
  4. ส่งทาง e-mail ถึง report@cpib.gov.sg
  5. ส่งแฟกซ์

ผู้แจ้งเบาะแสมีสิทธิที่จะไม่เปิดเผยตัวตนต่อ CPIB หรือแม้แต่จะเปิดเผยกับ CPIB ก็จะได้รับการปกปิดเป็นความลับ ยกเว้นแต่ศาลให้เปิดเผย ในกรณีที่เป็นการแจ้งเท็จ

องค์กร CPIB แบ่งเป็น 3 หน่วยงานหลัก คือ 1. ฝ่ายสืบสวน (Investigations Department) ซึ่งรับผิดชอบในอำนาจน้าที่หลักขององค์กร 2. ฝ่ายสนับสนุนงานสืบสวน (Operations Department) สนับสนุนการดำเนินการขององค์กร วิเคราะห์กรณีต่างๆและประสานงานกับองค์กรอื่นๆในต่างประเทศ 3. ฝ่ายธุรการและดำเนินการ (Corporate Affairs Department) บริหารจัดการบุคลากร การเงิน การวางแผน และอื่นๆ

องค์กร  CPIBได้มีการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆมากมาย คู่มือปฏิบัติเพื่อป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นสำหรับการดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ (PACT: A Practical Anti-Corruption Guide for Businesses in Singapore) เป็นหนึ่งในเอกสารเผยแพร่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก มีข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการทุจริตคอร์รัปชั่น มีกรณีศึกษาให้เป็นตัวอย่าง ได้แก่

1. การเรียกร้องค่าคอมมิสชั่น (A corporation’s corrupt commission)

2. ความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมประเพณีกับคอร์รัปชั่น (Fine line between tradition and corruption)

3. ค่ากาแฟเล็กน้อยคงไม่เป็นไร (A little coffee money “did no harm”)

        การศึกษาเปรียบเทียบองค์กรที่ทำหน้าที่ลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศต่างๆที่ได้รับจากจัดอันดับระดับสูง (มีความโปร่งใสมาก) จาก Transparency International  (การศึกษาเปรียบเทียบองค์กรที่ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รปชั่นในสิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้: ข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย โดย สุริยานนท์ พลสิม, วารสารการเมืองการปกครอง ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2562) ได้เปรียบเทียบรูปแบบองค์กรและแนวทางดำเนินงาน อีกทั้งให้ข้อสนอแนะต่อประเทศไทย ดังนี้

        1.การจัดตั้งเครือข่ายหรือคณะทำงานด้านการป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับท้องถิ่น: ป.ป.ถ. (Local Anti-Corruption: LACC)

        2. การควบรวมหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศไทย (สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ให้เป็นองค์กรเดียว

        3.การออกแบบระบบปฏิบัติงานเชิงรุกด้านการป้องกันคอร์รัปชั่น (Corruption Prevention) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานสืบสวนการทุจริตฯของประทศอื่น                 ข้อเสนอแนะข้างต้นน่าสนใจมากและน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย และถ้ามีข้อเสนอจัดทำมาตรการกำจัดทุจริตภายในองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตฯด้วย ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริตฯเหล่านี้ และอาจทำให้อันดับของประเทศไทยบนตารางของ Transparency International สูงขึ้น