Posted on

ระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในเยอรมนี

ระบบดูแลผู้สูงอายุในประเทศเยอรมนีที่เรียกกันว่า Long-Term Care Insurance (LTCI) เป็นโปรแกรมที่เป็นหลักประกันให้ผู้สูงอายุสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยหรือพิการ ซึ่งจำแนกเป็น 3 ลักษณะ คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล (care allowance) ค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาล (Home care) และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่บ้าน (residential care) โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสุขภาพในขณะนั้น แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 ความจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลพอประมาณ (วันละหนึ่งครั้ง ครั้งละประมาณ 90 นาที)

ระดับที่ 2 สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลปานกลาง (วันละ 3 ครั้ง รวมประมาณ 180 นาทีต่อวัน)

ระดับที่ 3 การดูแลแบบใกล้ชิดอย่างมาก (ตลอดเวลา หรือ ประมาณ 300 นาทีต่อวัน)

ต่อมาในปี ค.ศ. 2015 มีการเปลี่ยนแปลงในระเบียบการกำหนดระดับความต้องการดูแล (Need of care) ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติในปี ค.ศ. 2017 โดยพิจารณาจากปัจจัย 5 อย่างเพื่อกำหนดความต้องการการดูแลที่มีผลจากทางกายภาพและจิตภาพ และให้น้ำหนักเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้ (Backer, June 2016)

1. ความบกพร่องในการเคลื่อนไหว (10%)

2. ความบกพร่องในการสื่อสารและความจำ (15%)

3. ความบกพร่องทางพฤติกรรมและทางจิต (15%)

4. ความบกพร่องในการพึ่งพาตัวเอง (40%)

5. ข้อจำกัดทางสุขภาพและผลจากการรักษาพยาบาล (20%)

ความต้องการดูแล (Need of care) จะถูกแบ่งเป็น 5 ระดับตามเปอร์เซ็นต์ความบกพร่อง เช่น Grade 1: 12.5 – 27% จนถึง Grade 5: 90 – 100%

ระบบประกันสุขภาพในประเทศเยอรมนีก็ประสบปัญหาเดียวกับประเทศอื่นเช่นกัน ในเรื่องของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในการประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประเทศเยอรมนีได้เริ่มระบบประกันสุขภาพระยะยาว (Long-term care insurance, LTCI) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 โดยมีหลักการ ดังนี้ (Curry, Schlepper, & Hemmings, September 2019)

1.ร่วมกันรับความเสี่ยง (Risk-pooling) การกระจายความเสี่ยงเป็นการช่วยไม่ให้คนหนึ่งคนใดรับความเสี่ยงมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสียหายที่เกินการแบกรับ

2.ความโปร่งใส (Transparency) เงินในกองทุนเป็นเงินสมทบจากรายได้ ซึ่งจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นโดยเด็ดขาด และไม่นำเงินจากแหล่งอื่นมาสมทบ

3.หลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายที่แน่นอน (Consistency of eligibility) หลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอายุ วิธีการ และหลักเกณฑ์การพิจารณาที่แน่นอน

4.ผลประโยชน์ขั้นต่ำที่ชัดเจน (Clarity of benefit) จากเงินสมทบรายเดือนที่ผู้ร่วมกองทุนจะต้องจ่ายที่ชัดเจน แน่นอน

5.ความมั่นคงของผู้ให้หลักประกัน (Stability for providers) ความมั่นคงของผู้ให้หลักประกันสร้างความเชื่อมั่นและความสามารถในการแข่งขัน

6.ความยุติธรรม (Fairness) ผู้เอาประกันที่จ่ายเท่ากัน ต้องได้รับผลประโยชน์เท่ากัน

                บทเรียนจากระบบประกันสุขภาพของเยอรมนี

                1.ความสำเร็จของระบบประกันสุขภาพต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ

                2.ความโปร่งใส ชัดเจน และยุติธรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของสังคม

                3.แบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายระหว่างกองทุนและผู้รับการประกันอย่างชัดเจน โดยกำหนดผลประโยชน์ขั้นต่ำที่กองทุนจะจ่ายให้ ส่วนผู้ร่วมกองทุนต้องรับผิดชอบส่วนเกิน

                4.ต้องมีการแบ่งส่วนและเก็บรักษากองทุนอย่างเคร่งครัด (Ring-fencing)

                5.สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการมีความมั่นคงและยืดหยุ่น

                6.แผนระยะยาวเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ แม้ว่าเปลี่ยนรัฐบาล

                7.การจ่ายผลประโยชน์เป็นเงินสด สามารถทำได้อย่างระมัดระวัง

                8.มีความยืดหยุ่นในการกำหนดวิธีการปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงการบริการอย่างไม่เป็นทางการ (Informal care)

                9.สนับสนุนการให้บริการในชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainable community-based care)

                เป็นที่น่าสังเกตว่าระบบประกันสุขภาพของประเทศเยอรมนีมีการแบ่งความรับผิดชอบ โดยที่กองทุนและผู้รับประกันในระบบรับบางส่วน และให้ผู้เอาประกันรับผิดชอบบางส่วน ทั้งนี้เพื่อรักษาความยั่งยืนของระบบ ระบบในประเทศของเราจึงควรปรับให้มีการแบ่งความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน อีกทั้งต้องป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากภายนอก

เอกสารอ้างอิง:

Backer, G. (June 2016). Reform of the long-term care in Germany. Brussels: European Social Policy Network (ESPN).

Curry, N., Schlepper, L., & Hemmings, N. (September 2019). What can England learn from the long-term care system in Germany? London, UK: nuffieldtrust.