Posted on

มุ่งสู่ Thailand Zero Dropout

เป็นที่น่ายินดีที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้ความสนใจกับการศึกษาของชาติ แต่ก็น่าแปลกใจที่ทำไมจึงไม่เป็นข่าวจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อาจเป็นการส่งผ่านข้อมูลจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไปยังนายกรัฐมนตรี ตามข่าวจากเวปไซท์ของรัฐบาลไทยด้านล่าง

“…นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ห่วงใยอนาคตของเยาวชนไทยที่เสี่ยงจะหลุดนอกระบบการศึกษา จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการฐานข้อมูล ค้นหาช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี กว่า 1.02 ล้านคน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา…”

ที่มา: รัฐบาลไทย (https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/85370)

                จากรายละเอียดเพิ่มเติมในเวปไซท์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับปีการศึกษา 2566 ได้แก่

                -มีนักเรียนยากจน 1.8 ล้านคนที่ยากจนและมีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา

                -ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ครอบครัวเด็กยากจนต้องแบกรับ สูงถึง 22% ของรายได้ ซึ่งสูงกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย

                -จำนวนนักเรียน 1 ล้านคนมาจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนของ สศช.ที่ 2,803 บาท ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากรัฐบาล

                -ในจำนวนประชากรวัยแรงงานทั้งหมด 20 ล้านคน มีถึง 14.5 ล้านคน หรือ 74% จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า และตกอยู่ในวงจรความยากจน

                -มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ (ต่ำกว่าค่าสถิติของทั้งประเทศมากกว่า 3 เท่า)

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา https://www.eef.or.th/infographic-452234/

                ที่ผ่านมาจำนวนนักเรียนระดับประถมศึกษา มีเพียงราว 66% ของจำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 6-11 ปี และจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษา มีราว 71% ของจำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 12-14 ปี ซึ่งหมายถึงมีเด็กอายุระหว่าง 6-11 ปี ราว 34% ไม่ได้กำลังเรียนอยู่ และเด็กอายุระหว่าง 12-14 ปี ราว 29% ไม่ได้กำลังเรียนอยู่

ที่มา: สำนักนโยบายและแผนการศึกษาพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน

(http://www.bopp.go.th/?page_id=1828)

                สถิติข้างต้นน่าสนใจมากเพราะตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดต้องเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก ตามข้อความอ้างอิงข้างล่างนี้

“……ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปีโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจน อายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไป ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การศึกษาภาคบังคับนั้นต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่บังคับให้ประชาชนต้องเข้าเรียน แต่เป็นสิทธิ์ของคนไทย ส่วนการศึกษาภาคบังคับเป็นการบังคับให้เข้าเรียนถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองตาม มาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ…..” (การศึกษาไทย, https://www.bic.moe.go.th/images/stories/pdf/thailand-education-system.pdf)

                ดูเหมือนสถิติเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด เป็นที่รับทราบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครจะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว