Posted on

ยืมเงินมาเรียน

เป็นที่น่าสนใจว่าในจำนวนผู้กู้ยืมเงินกองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 6,868,103 ราย มีผู้ชำระหนี้เสร็จสิ้นเพียง 1,915,701 ราย หรือ 28% ของผู้กู้ยืม (สถิติข้อมูล กยศ. วันที่ 31 กรกฎาคม 2567, https://www.studentloan.or.th/th/statistics/1540900492) ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการชำระหนี้ อยู่ในช่วงปลอดหนี้ และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ

นอกจากสถิติของผู้กู้ยืมแล้ว กยศ.ยังคงให้การกู้ยืมอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดบนเวปไซด์ของ กยศ. ( https://www.studentloan.or.th/th/news/1705998214) มีความเห็นเกี่ยวกับการล้างหนี้ให้ผู้กู้ยืมหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังจะเห็นได้ว่าสกู้ปข่าว “ถอดบทเรียนนโยบายล้างหนี้ กยศ. ของสหรัฐอเมริกา” (https://www.youtube.com/watch?v=BlLPLRkz5Yg)

                ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้กู้ยืมไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามที่กำหนด น่าจะเป็นเรื่องของสภาพการทำงาน และรายได้ หลังจากจบการศึกษา จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปีการศึกษา 2566 ผู้สำเร็จการศึกษาทั้งประเทศ ทำงานแล้ว 81.19%

                TITLEMAX เปรียบเทียบกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการเรียนกับรายได้เฉลี่ยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแยกตามกลุ่มอาชีพ ตามรูปด้านล่าง ด้านซ้าย(สีเขียว)เป็นรายได้เฉลี่ยต่อปี ด้านขวา(สีแดง)เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา (Education cost) ในกลุ่มให้บริการทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 190,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับรายได้ต่ำสุดต่อปีในกลุ่มนี้ 111,440 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็น 1.7 เท่าของรายได้ต่อปี ในกลุ่มผู้จัดการหรือให้คำปรึกษาด้านการเงิน สถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ค่าใช้จ่ายการศึกษาโดยประมาณ 106,372 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับรายได้ต่ำสุดต่อปีในกลุ่มนี้ 91,420 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็น 1.16 เท่าของรายได้ต่อปี ในกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ค่าใช้จ่ายการศึกษาโดยประมาณ 145,509 เหรียญสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับรายได้ต่ำสุดต่อปีในกลุ่มนี้ 79,160 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็น 1.84 เท่าของรายได้ต่อปี ส่วนใหญ่ผู้ที่ศึกษาในอาชีพหลักๆนี้ จะเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ที่จะได้รับในหนึ่งปี

ที่มา: TITLEMAX,https://www.titlemax.com/discovery-center/salaries-vs-education-costs-of-50-common-u-s-jobs/

                ตัวเลขเหล่านี้อาจจะนำมาเปรียบเทียบกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อรายได้เฉลี่ยต่อปีในประเทศไทย ซึ่งน่าจะบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้เงินยืมจาก กยศ.ได้ แม้ว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อรายได้เฉลี่ยต่อปีในประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่สูงมาก ยังมีนักการเมืองนำไปเป็นประเด็นหาเสียง ว่าจะยกภาระหนี้ให้ หรือลดภาระหนี้บางส่วนให้ เพื่อเอาใจผู้ลงคะแนนเสียงตามวิถีแห่งประชานิยมอันเป็นปรกติทั่วโลก