7 มกราคม 2567
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ บ้างทราบสาเหตุ บ้างไม่ทราบสาเหตุ การนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความเครียดและเป็นต้นเหตุให้ร่างกายอ่อนแอและเกิดโรคอื่นๆตามมา มีการวินิจฉัยถึงสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ และมีคำแนะนำในการแก้ปัญหามากมายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรวบรวมเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ ดังนี้
“เมื่อผู้สูงอายุนอนไม่หลับ”
โดย ศ.นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อเอ่ยถึงความชรา ท่านผู้อ่านคงนึกถึงคนที่มีผมสีดอกเลา เดินหลังค่อมเล็กน้อย ผิวหนังหยาบกร้านและเหี่ยวย่น แต่นั่นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากภายนอก มีใครบ้างที่คิดว่าความชรายังมีผลกระทบไม่น้อยต่อการเปลี่ยนแปลงในอวัยวะระบบต่างๆ หนึ่งในอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั้นก็คือ สมอง อวัยวะที่มีน้ำหนักราว 1400 กรัม ในศีรษะของเรานั่นเอง
อาการนอนไม่หลับก็เป็นอาการหนึ่งที่เกิดจากสมองทำงานไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกับอาการหมดสติหรือหลับไม่ยอมตื่น แต่อย่างหลังดูจะทำให้ญาติหรือคนใกล้ชิดตกใจได้มากกว่าและรีบพาไปพบแพทย์ ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับ ญาติมักจะปล่อยปละละเลย บางครั้งผู้ป่วยก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการไปซื้อยานอนหลับมารับประทานเอง ซึ่งยานอนหลับก็เป็นดาบสองคมได้บ่อยๆ ในผู้สูงอายุ จากผลการศึกษาในประชากรผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปที่อยู่ในชุมชน ได้รับความทนทุกข์ทรมานของอาการนอนไม่หลับถึงมากกว่าครึ่ง ยิ่งกว่านั้นอาการนอนไม่หลับอาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่นๆ ทางสมอง ที่สมควรได้รับการตรวจพบและแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งหมดนี้แสดงถึงขนาดของปัญหานอนไม่หลับและความรุนแรงของอาการที่ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาสนใจอย่างจริงจัง
สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ
1. เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความชรา
โดยปกติเมื่อมนุษย์เริ่มเข้าสู่วัยชรา สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเหมือนเช่นอวัยวะอื่น โดยลักษณะการนอนของผู้สูงอายุจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
• ระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลง
• ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนเพื่อที่จะหลับ
• ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น ( ตอนที่กำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับสนิท ) จะยาวขึ้น ขณะที่ช่วงระยะที่หลับสนิทจริงๆ จะลดลง
• จะมีการตื่นขึ้นบ่อยๆ กลางดึก
ดังนั้นผู้สูงอายุแม้จะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ สมวัย ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองนอนน้อยลง หรือคิดไปว่านอนไม่หลับ แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้จะดูเหมือนว่า “ นอนไม่หลับ ” แต่ช่วงกลางวันก็มักจะไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอนแต่อย่างใด
2. เกิดเนื่องจากมีโรคที่เป็นพยาธิสภาพซ่อนอยู่ ได้แก่
• จากยาที่ผู้สูงอายุกำลังใช้อยู่
ยาบางประเภทโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ เช่น การใช้ยานอนหลับนานๆ ยารักษาอาการสั่น เคลื่อนไหวช้าในโรค Pakinsonism หรือบางครั้งอาจเป็นส่วนผสมของยารักษาโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทางสมองเช่น alcohol ในพวกยาน้ำแก้ไอ หรือ caffeine ที่ผสมในยารักษาโรคหวัด เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุหยุดการใช้ยาเหล่านี้ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง
• โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ ตอนกลางคืน ก็จะมีผลต่อการนอนด้วย เช่น โรคเบาหวาน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณปัสสาวะมาก โรคต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุชาย โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่การใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือภาวะหัวใจวาย ก็ทำให้มีปัสสาวะตอนกลางคืนได้บ่อย
• ความเจ็บปวด
ความเจ็บปวดทางกายไม่ว่าจากอวัยวะใด จะมีผลทางอ้อมต่อการนอนหลับในผู้สูงอายุเสมอ ที่พบบ่อยมักเกิดจาก โรคของกระดูกและข้อเสื่อม ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้ เช่น ข้อเข้าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม เป็นต้น นอกจากนั้นอาการเจ็บปวดอาจเกิดจากอวัยวะภายในช่องท้องเช่น ท้องผูก แน่นท้อง อาการไม่ย่อย เป็นต้น
• โรคสมองเสื่อมและภาวะจิตผิดปกติ
ิ ผู้สูงอายุที่เริ่มมีสมองเสื่อมในระยะแรกจะมีอาการนอนไม่หลับได้ เพิ่มจากอาการขี้หลงขี้ลืม หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนสาเหตุของสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทยมักเกิดจากการอุดตันของเส้นโลหิตในสมองที่เกิดซ้ำกันหลายๆ ครั้ง อาจจะมีหรือไม่มีอาการของอัมพาตร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้นภาวะซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการนอนยากในผู้สูงอายุได้ โดยผู้ป่วยมักจะมีลักษณะที่เข้านอนได้ตามปกติ แต่ตื่นขึ้นกลางดึกเช่น ตี 3-4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก
• อื่นๆ
ผู้สูงอายุบางรายเวลานอนหลับสนิท สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการหายใจจะทำงานลดลง ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจได้ชั่วขณะ จากนั้นสมองจะถูกกระตุ้นอีกครั้งอย่างรุนแรงเพื่อให้หายใจ ขณะนั้นผู้ป่วยอาจตื่นขึ้นมาได้ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่องได้ หรือบางรายเวลาหลับสนิท ลิ้นในช่องปากจะตกย้อนไปข้างหลังและอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้ และถ้าอุดกั้นมากขึ้นถึงกับทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าหลอดลมและปอด สมองก็จะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง เพื่อให้ร่างกายพยายามหายใจก็ทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นได้อีกเช่นกัน
จากสาเหตุของการนอนหลับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วย ประวัติการนอน และตรวจร่างกายจากแพทย์โดยละเอียดเพื่อสืบสาวถึงสาเหตุที่แท้จริงของการนอนไม่หลับในผู้ป่วยแต่ละราย
ในขั้นต้น ผู้สูงอายุที่เริ่มประสบปัญหาการนอนไม่หลับ มีข้อปฏิบัติบางประการที่อาจช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ ดังนี้
• พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
• หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ , เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะเวลาเย็น เป็นต้น
• ไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยๆ
• เพิ่มกิจกรรมหรือการออกกำลังกายในช่วงเวลากลางวันให้มากขึ้น
• ถ้าผู้สูงอายุไม่มีอาการง่วงนอนเมื่อถึงเวลาเข้านอน และไม่สามารถนอนหลับได้ ก็ควรลุกขึ้นมาหาอะไรทำดีกว่าที่จะนอนกลิ้งไปมาบนเตียง
• กำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่สม่ำเสมอและควรจะเป็นอาหารที่มี protein สูงเมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ
• พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบและมืดพอสมควร ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
• ฝึกการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ
โดยสรุป ผู้สูงอายุมักประสบกับปัญหาการนอนไม่หลับได้บ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากความชรา มีผลกระทบต่อความเสื่อมของสมอง ผู้สูงอายุโดยทั่วไปจึงควรทำความเข้าใจกับปัญหาที่เป็น “ ปกติ ” ในผู้สูงอายุและพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น และเมื่ออาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น ผู้สูงอายุก็อาจจำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อค้นหาโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุต่อไป
อ่านเพิ่มเติม … https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_008.html
“2 สาเหตุทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ พร้อมวิธีแก้ไข”
โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ยิ่งอายุมากขึ้นร่างกายของเรายิ่งเสื่อมขึ้นตามวันวัย การทำงานของสมองจึงรวนพร้อมกับไม่เป็นปรกติดั่งเช่นคนหนุ่มสาว ซึ่งสัญญาที่เป็นเครื่องยืนยันว่าหลักเลขได้เข้าสู่โหมดผู้สูงวัยนั้นก็คือ “การนอนไม่หลับ” และมีการตื่นในช่วงกลางดึกบ่อยๆ อันเป็นการอาการเริ่มแรกบ่งบอกของโรคต่างๆ ทางสมอง
สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุนอกจากเกิดจากอายุที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นสมองของคนเราจะเสื่อมไปตามวัยนั้นพบได้ในผู้สูงอายุทุกเพศและแทบทุกคนแม้ว่าผู้สูงอายุจะมีสุขภาพดีก็ตาม สาเหตุที่สำคัญรองลงมาคือมีโรคซ่อนอยู่ ภายในร่างกายแบ่งออกได้คือ
1.ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ทำให้มีผลกระทบในการนอนต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน โรคต่อมหมวกไตหรือไตวายเรื้อรัง โรคเหล่านี้ทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง โรคข้อเสื่อมหรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรังก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดตามร่างกายส่งผลทางอ้อมต่อการนอนหลับ
2.เกิดมาจากยาระบบประสาทหรือสมอง เช่นการใช้ยานอนหลับเป็นระยะเวลานาน การใช้ยาในการรักษาโรคพาร์กินสัน หรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิด อาทิเช่น ยาน้ำแก้ไอที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เจือปนอยู่ เมื่อผู้สูงอายุใช้ยาเหล่านี้จะส่งผลต่อการนอนไม่หลับ ซึ่งหากผู้สูงอายุหยุดกินยาเหล่านี้อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง
วิธีป้องกันและรักษาให้นอนหลับได้มากขึ้น
ควรหลีกเลี่ยงการนอนหลับในเวลากลางวันเป็นระยะเวลานานๆ งดการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
เลือกรับประทานอาหารเย็นให้เป็นเวลาและควรกินอาหารที่มีโปรตีนสูงพร้อมทั้งเพิ่มกิจกรรมหรืออกกำลังกายในช่วงกลางวันให้มากขึ้นและเมื่อถึงเวลานอนแต่ผู้สูงอายุไม่ง่วงควรหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ
ห้องนอนไม่ควรสว่างเกินไปเพราะแสงสว่างจะรบกวนการนอนหลับและฝึกทำสมาธิก่อนนอนเพื่อให้จิตใจสงบจะทำให้นอนหลับได้ลึกและเต็มอิ่ม
ทั้งนี้ทั้งนั้นหมั่นทำให้เป็นตารางและแบบแผนเท่านี้คุณก็จะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสดชื่นผ่องใสเพราะสมองได้รับการพักผ่อนแถมสุขภาพยังแข็งแรงห่างไกลโรคไม่ต่างกับวัยหนุ่มสาวเมื่อคราอดีต…
อ่านเพิ่มเติม … https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27751
“สาเหตุการนอนไม่หลับของผู้สูงวัย”
ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
การนอนหลับถือเป็นการพักผ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่จากการสำรวจกลับพบว่าในประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาการนอนไม่หลับสูงถึง 50% มีภาวะการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ 2-10% ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและควรทำความเข้าใจ
การนอนหลับเป็นการพักทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
เพราะระหว่างที่นอนหลับร่างกายจะกลับสู่ภาวะสมดุล เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจและชีพจร รวมถึงฮอร์โมนต่างๆ ที่มีการหลั่งอย่างสม่ำเสมอ ส่วนทางด้านจิตใจพบว่าในขณะนอนหลับ ร่างกายจะมีการรวบรวมข้อมูลในชีวิตประจำวันมาเก็บไว้เป็นความทรงจำ ให้สภาพจิตใจได้ผ่อนคลาย และให้ร่างกายได้แก้ปัญหาต่างๆ ช่วงที่พักจิตใจ
ในกรณีที่ร่างกายนอนหลับไม่เพียงพอ
จะส่งผลกระทบให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ความจำลดลง สมองตื้อ คิดอะไรไม่ค่อยออกหรือคิดได้ช้าลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิต นอกจากนี้ในด้านจิตใจ การนอนไม่หลับยังก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลได้ หรือเป็นปัญหาพื้นฐานในเรื่องของอาการซึมเศร้าได้ด้วย
สาเหตุการนอนไม่หลับโดยทั่วไป มักมาจาก
ปัญหาวิตกกังวล เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต การเปลี่ยนงาน การย้ายงาน และอื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกกังวลใจ ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับได้ นอกจากนี้ในเรื่องของอายุก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งพบว่าในผู้สูงอายุมักมีการนอนไม่หลับสูงกว่าวัยอื่นๆ
สาเหตุการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ ได้แก่
การทำงานของร่างกายที่เสื่อมลง ระดับฮอร์โมนที่ลดง โรคประจำตัวที่รบกวนการนอน และการรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด ทำให้การนอนหลับลึกหรือพักผ่อนร่างกายของผู้สูงอายุมีเปอร์เซ็นน้อยกว่าคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นลักษณะปกติของผู้สูงอายุ แต่ถ้าหากในผู้สูงอายุรายไหนที่มีความวิตกกังวลอาจส่งผลให้การนอนไม่หลับมีอาการที่หนักขึ้นกว่าเดิมได้
ในเรื่องของการตื่นนอนกลางดึกที่ผู้สูงอายุรวมถึงคนส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกเพราะคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วหากมีการตื่นกลางดึกและสามารถนอนหลับต่อได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง และไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนแต่อย่างใด
การรักษาปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ
เริ่มต้นให้ดูก่อนว่าผู้ประสบปัญหามีเรื่องใดวิตกกังวลอยู่หรือไม่ หากมีให้จัดการที่เรื่องนั้น เมื่อไม่มีความวิตกกังวลก็จะสามารถนอนหลับได้ในที่สุด สำหรับผู้ที่ไม่มีเรื่องวิตกกังวล อาจมีในเรื่องของโรคประจำตัวที่รบกวนการนอน ซึ่งควรดูแลที่ตัวโรคนั้นๆ
แต่ในผู้สูงอายุบางรายมีความวิตกกังวลในเรื่องของการนอนไม่หลับโดยตรง ส่วนนี้ควรให้ผู้สูงอายุทำจิตใจให้ผ่อนคลายก่อนนอน อาจฟังเพลงในจังหวะเบาๆ หรือสวดมนต์ รวมถึงการทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อความผ่อนคลายแล้วจึงเข้านอน จะช่วยให้หลับสบาย ไม่ควรสั่งหรือบังคับให้ตัวเองนอน เพราะจะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น และส่งผลให้นอนไม่หลับ
นอกจากนี้สิ่งที่ควรทำคือการควบคุมระยะเวลาในการนอน คือการตื่นและการนอนให้ตรงเวลาในทุกๆ วัน จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว
สำหรับการใช้ยานอนหลับ
เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษา แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะไม่ค่อยใช้ยาในการรักษา แต่จะรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ก่อน เว้นแต่ในกรณีที่คนไข้มีความต้องการที่จะรักษาโดยเร็วที่สุด แพทย์จึงจะใช้ยาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรมการซื้อยาทานเอง อาจเป็นยาที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาลดน้ำมูกที่ช่วยให้นอนหลับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นวิธีที่ไม่แนะนำเพราะอาจส่งผลข้างเคียงตามมา
วิธีการสังเกตว่าอาการระดับไหนที่ควรพบแพทย์
ให้พิจารณาว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือไม่ หากการนอนไม่หลับนั้นเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิต สักประมาณ 1 สัปดาห์ ควรได้รับการรักษา
อ่านเพิ่มเติม … https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/นอนไม่หลับผู้สูงวัย/
“คู่มือการนอนหลับเพื่อสุขภาพที่ดี”
กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
การนอนหลับเป็นความจําเป็นพื้นฐานที่สําคัญมากในการดํารงชีวิต เช่นเดียวกับ การหายใจ การดื่มน้ำและการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ความสำคัญของการนอน คือ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน ได้ซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย ตลอดทุกช่วงวัยตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน การนอนหลับมีบทบาทสำคัญกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย สมอง และระบบประสาท การเรียนรู้ เก็บความจําและการทํางานของระบบภูมิคุ้มกัน ในวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มีความต้องการเวลานอนหลับที่แตกต่างกัน การอดนอนหรือนอนหลับไม่เพียงพอความผิดปรกติ หรือโรคของการนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย สมอง และจิตใจ ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคสมอง โรคอ้วน โรคซึมเศร้า ภูมิต้านทานต่ำ ติดเชอได้ง่าย และการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและในการทำงาน เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม … https://dopah.anamai.moph.go.th/web-upload/8x6b2a6a0c1fbe85a9c274e6419fdd6071/202103/m_magazine/24466/2307/file_download/8eeb5487769814c0a8dc8bea5e0de976.pdf